วงการปุ๋ยใส่ผัก และการทำเกษตรมือใหม่หลายคน มักเคยประสบปัญหา ปลูกพืชผักแล้วไม่ได้ผลผลิต จนกระทั่งต้องหันกลับไปหา ปุ๋ยเคมี และส่วนใหญ่เลือกใช้สูตรเสมอ คือ 15:15:15 หรือ 16:16:16 นานวันเข้ายิ่งเกิดปัญหาพืชให้ผลผลิตน้อยลงเรื่อย ๆ จนต้องกลับไปสู่วังวนของการทำเกษตรเคมีดังเดิม
บทความนี้ตอบข้อสงสัยอะไรกับท่านได้
- ตัวเลขข้างถุงปุ๋ยใส่ผัก คืออะไร
- การปลูกพืชผักผลไม้ ควรใช้ปุ๋ยอะไร แบบไหน และให้ในช่วงใด
- ช่วงเริ่มปลูกถึงก่อนเกิดตาดอก ควรใส่ปุ๋ยอะไรเพื่อทำให้พืชผักแข็งแรง โตเร็ว
- ช่วงเกิดตาดอกถึงช่วงติดผล ควรให้ปุ๋ยอะไรเพื่อเพิ่มผลผลิต
- ช่วงที่พืชเริ่มติดผล ควรใช้ปุ๋ยใส่ผักอะไร เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพก่อนเก็บเกี่ยว
- สูตรการทำ ปุ๋ยหมักชีวภาพใส่ผัก ที่มีสารอาหารครบถ้วน
แม้ปัญหาเหล่านั้นจะมีวิธีแก้ไขที่แสนง่าย แต่สำหรับเกษตรกรมือใหม่มันคือปัญหาที่ยากจะแก้ไข แม้จะไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเลยก็ยังคงมีคำถามในหัวว่า ทำอย่างไรให้พืชผักที่ปลูกเจริญงอกงามและมีผลผลิตที่ดี ปลูกพริกก็มีแต่ใบ มีดอกเยอะ แต่ไม่มีผลพริก ปลูกมะละกอมีแต่ดอกไม่มีผล ปลูกพืชผักก็งอกงามดี ใบดก ต้นอวบ
แต่ดูท่าจะเป็นพืชพันธุ์ดูใบเสียส่วนใหญ่ คือมีแต่ใบงามๆ ให้ดู แต่ไร้ซึ่งผลผลิต ไม่มีผลให้กิน จะมีดอกบ้างแต่ไม่เคยติดผลเลย ฯลฯ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้มีทางแก้ ลองมาฟังทางนี้
สูตรปุ๋ยเคมี คือตัวอย่างในการแก้ปัญหา
อยากปลูกพืชให้เจริญงอกงาม ผลดก ให้สังเกตุ สูตรปุ๋ยเคมี ไว้ก่อน อย่างเช่นเรื่องตัวเลข 3 หลักบนกระสอบปุ๋ย หลักไหนบำรุงอะไรบ้าง แล้วนำมาใช้กับ ปุ๋ยใส่ผัก ของเรา
- ตัวแรก คือ ปริมาณ N (ไนโตรเจน) ช่วยเร่งการเจริญเติบโต สร้างใบ เร่งให้แตกยอด ช่วยให้ใบพืชมีสีเขียว ช่วยทำให้พืชตั้งตัวได้เร็วในระยะแรก
- ตัวที่สอง คือ ปริมาณ P (ฟอสฟอรัส) ช่วยเร่งบำรุงให้ออกดอกและการผสมเกสร สร้างเมล็ด ช่วยให้รากดูดธาตุอาหารไปใช้ได้ดี ช่วยให้รากใหญ่แข็งแรง กระจายตัวดี
- ตัวสุดท้าย คือ ปริมาณ K (โพแทสเซียม) ช่วยในเรื่องการสร้างแป้ง น้ำตาล โปรตีน ในผล ช่วยบำรุงผล ให้ผลใหญ่ขึ้น รสชาติหวาน สีสวยสด เนื้อของผลมีคุณภาพ
หากไม่เข้าใจให้ท่องจำประโยคนี้ว่า “ใบ ดอก ผล” จะได้ไม่งงไปกว่าเดิม เจอตัวเลขข้างถุงปุ๋ยเมื่อใด ให้เข้าใจเลยว่า ใบ ดอก ผล เช่น
- สูตรปุ๋ยบำรุงใบ 46-0-0 เหมาะกับไม้ใบ และ สนามหญ้า พืชกินต้น พืชกินใบ
- สูตรปุ๋ยบำรุงดอก 8-24-24 เร่งดอกและเพิ่มธาตุอาหารที่จะนำไปบำรุงผล
- สูตรปุ๋ยบำรุงผล 3-13-21 เหมาะกับพืชผักผลไม้ เร่งดอก บำรุงผล ให้ผลโต รสชาติดี
ทีนี้เราก็ใช้ความรู้ที่มีข้างต้น วิเคราะห์หา ธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืช ในแบบการทำเกษตรอินทรีย์ของเรากัน โดยเริ่มจากบทความสองเรื่องนี้ก่อน
ขอบคุณภาพจาก www.sogreen.asia
ควรใส่ปุ๋ยให้ถูกช่วงเวลาของการปลูกพืช
ตั้งแต่ระยะเริ่มปลูก โดยเริ่มจากการเป็นต้นกล้า จนกระทั่งไปถึงช่วงติดดอก และช่วงบำรุงผล แต่ละช่วงเหล่านี้ พืชจะมีความต้องการธาตุอาหารต่างกัน ควรให้ปุ๋ยให้ถูกกับช่วงเวลาของการเจริญเติบโตของพืช ไม่ใช่ให้ตามใจผู้ปลูก ยกเว้นพืชจะมีอาการผิดปกติ หรือมีอาการป่วย หรือช่วงพืชไม่กินปุ๋ย สามารถเพิ่มสูตรใดๆ ให้พิเศษเอา เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
ให้ปุ๋ยไนโตรเจน ในช่วงเริ่มปลูก
ในช่วงเป็นต้นกล้าไปจนกระทั่งก่อนจะติดดอกออกผล ควรใช้ธาตุอาหารที่เหมาะสำหรับพืชในช่วงนี้คือให้เน้นธาตุ “ไนโตรเจน” เป็นหลัก
ธาตุไนโตรเจนปกติจะมีอยู่ในอากาศในรูปของก๊าซไนโตรเจนอยู่แล้ว แต่พืชชนิดเดียวที่สามารถใช้ก๊าซไนโตรเจนไปเป็นสารอาหารได้คือ “พืชตระกูลถั่ว” เท่านั้น หากมีแค่พืชตระกูลถั่วเพียงชนิดเดียวที่จะนำเอาก๊าซไนโตรเจนในอากาศไปใช้ประโยชน์ได้ เพราะระบบรากพิเศษที่มากับสายพันธุ์นั่น แล้วพืชทั่วไปล่ะ…จะทำอย่างไร?
พืชทั่วไปจะต้องได้ไนโตรเจนจากอนุมูลของสารประกอบ เช่น แอมโมเนียมไอออน (NH4+) และไนเทรตไอออน (No3-) และธาตุไนโตรเจนในดินที่มีอยู่มากนั้น โดยมากจะอยู่ในรูปของ “ปุ๋ยอินทรีย์” ที่มาจากการสลายตัวของสารอินทรียวัตถุในดิน โดยจุลินทรีย์ในดินจะเป็นผู้ปลดปล่อยให้ หรือจากการใส่ปุ๋ยเคมีที่มีสูตรไนโตรเจนลงไปในดินด้วย
ธาตุไนโตรเจนได้จากไหนบ้าง เวลาปลูกพืชจึงควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่ได้จากเศษพืชตระกูลถั่วลงไปมากๆ เพื่อเร่งการเจริญเติบโต ให้ลำต้นแข็งแรง ใบเขียวเข้มและต้านทานโรคสูง ให้กับพืชผักที่ปลูก การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากเศษวัสดุอย่าง กระถิน แหนแดง ใบทองหลาง ใบก้ามปู หรือมูลสัตว์ ก็สามารถเพิ่มจำนวนธาตุไนโตรเจนได้เป็นจำนวนมาก และเพียงพอต่อความต้องการของพืชแล้ว : เรียนรู้เรื่อง การทำปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ หรือปุ๋ยจากใบไม้
ยกเว้น หากพืชแสดงอาการขาดธาตุไนโตรเจน คือใบจะซีดเหลือง โตช้า ไม่แตกใบใหม่ ต้นอ่อนแอ แมลงศัตรูพืชทำลายได้ง่าย พืชไม่มีดอก เหล่านี้…ควรเพิ่มไนโตรเจนให้กับพืชในทันที ง่ายๆ ก็คือเติมปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ลงไปเท่านั้นเอง
ให้ปุ๋ยฟอสฟอรัส ในช่วงเร่งดอก เร่งผลผลิต
ซึ่งในช่วงนี้ เกษตรกรจะประสบปัญหากันมาก ว่าให้ปุ๋ยแล้วพืชไม่ติดดอก หรือติดดอกแต่ไม่มีผลผลิต ข้อแนะนำคือการใช้ปุ๋ยสูตรเพิ่มฟอสฟอรัส ปุ๋ยสูตรเร่งดอก ควรกระทำดังนี้
เพราะฟอสฟอรัสเป็นส่วนสำคัญในระบบของพืช ตัวช่วยเสริมสร้างส่วนดอก การผสมเกสร การติดเมล็ด แตกกอ ช่วยให้พืชดูดใช้ไนโตรเจนและธาตุอาหารอื่นๆ ได้ดีขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้สูตรที่ผสมระหว่าง ฟอสฟอรัส 2 ส่วน กับ ไนโตรเจน 1 ส่วน หากจะใช้แต่เพียงฟอสฟอรัสอย่างเดียว พืชจะขาดสารอาหารอื่นๆ แม้พืชจะเติบโตแต่ก็ไม่สมบูรณ์
เพราะคุณสมบัติของฟอสฟอรัสอย่างหนึ่งคือ เป็นตัวช่วยเร่งการดูดซึมธาตุอาหารอื่น ได้ด้วย หากไม่มีธาตุอาหารอื่นร่วมด้วย พืชก็ไม่โต เช่น ต้องการให้พริกติดดอกและมีผล เลยให้แต่ฟอสฟอรัสแต่ไม่ใส่ไนโตรเจน หรือโพแทสเซียมอย่างเพียงพอ ดอกก็ร่วง เพราะธาตุอาหารอื่นก็จำเป็นเช่นเดียวกัน ยิ่งผลไม้ที่ออกผลทั้งปี ควรจะให้ธาตุชนิดนี้อยู่เรื่อยๆ เป็นประจำอย่าได้ขาด
ปุ๋ยใส่ผักโดยธรรมชาติ ฟอสฟอรัสจะมีในดินอยู่แล้ว จะมากน้อยแล้วแต่พื้นที่ ส่วนใหญ่อยู่ในรูปที่ละลายน้ำยาก พืชดูดเอาไปใช้ได้น้อยหรือไม่ได้เลย
ปุ๋ยเคมีที่นิยมใช้กันเป็นฟอสฟอรัสที่พืชดูดนำไปใช้ได้ทันที แต่มีปัญหาตามมา คือถ้าดินมีฟอสฟอรัสมาก พืชใช้ไม่หมด มันจะไปทำปฏิกิริยารวมตัวกับธาตุอาหารอื่นและอยู่ในรูปแบบที่พืชไม่สามารถนำไปใช้ได้ กลายเป็นต้นไม้ขาดสารอาหาร แคระแกร็น ทางแก้ก็คือ ต้องปรับดินให้มีค่า Ph อยู่ระดับ 7 หากดินเป็นกรดแก้โดยเติมปูนขาว และถ้าดินเป็นด่างใช้กำมะถันเติมลงไป
วิธีง่ายที่สุดในการเติมฟอสฟอรัสลงไปในดินเพื่อบำรุงดินและเร่งให้พืชเกิดตาดอกและติดผลง่าย คือการเติมอินทรีย์วัตถุหรือ “ปุ๋ยอินทรีย์” ที่ได้จากการหมักปุ๋ยด้วยวัสดุอย่าง กระถิน ผักบุ้งจีน บัวบก ลูกยอ สาหร่ายทะเล จะสามารถเพิ่มสารอาหารฟอสฟอรัสให้แก่พืชได้มากมายเพียงพอไม่เกิดผลเสียอย่างแน่นอน : เรียนรู้เรื่อง การหมักปุ๋ยทำเอง 7 วันเห็นผล
อาการขาดธาตุฟอสฟอรัสของพืช คือพืชจะแสดงให้เห็นจากการที่ใบพืชมีสีเขียวเข้มจัด ถ้าขาดรุนแรงใบจะผิดรูปร่าง บิด งอ หงิก แห้ง และแสดงอาการตายเฉพาะส่วน การเติมฟอสฟอรัส ควรเติมธาตุอาหารอื่นร่วมด้วยในปริมาณพอสมควร
ให้ปุ๋ยโพแทสเซียม ในช่วงบำรุงผลให้มีคุณภาพ
เมื่อพืชผักติดดอกออกผลผลิต คือผสมเกสรและให้ผลผลิตแล้ว ในช่วงนี้ควรบำรุงต้นพืชด้วยการเติมสูตรโพแทสเซียมลงไปให้แก่พืช เพื่อช่วยในเรื่องของการบำรุงผลให้ออกมามีคุณภาพดี โพแทสเซียมจะช่วยการสร้างแป้ง น้ำตาล โปรตีน ในผล ช่วยบำรุงผล ให้ผลใหญ่ขึ้น รสชาติดี สีสวยสด เนื้อของผลมีคุณภาพมาก
ข้อสังเกตุเมื่อให้ ปุ๋ยใส่ผัก สูตรโพแทสเซียม ธาตุโพแทสเซียมมีบทบาทในการควบคุมการเปิดปิดของรูใบสโตมา (Stoma) ดังนั้นโพแทสเซียมจึงช่วยลดการคายน้ำจากใบและเพิ่มความต้านทานสภาพแห้งแล้ง สภาพร้อน-หนาวให้กับพืชได้ ในระยะนี้ พืชไม่ต้องการธาตุไนโตรเจนมากนัก เนื่องจากสารอาหารต่างๆ จะถูกนำมาสะสมไว้ที่ผลเกือบทั้งหมด พืชบางชนิดจะทิ้งใบไปเลยก็มี ในระหว่างนี้ เมื่อเราจะใส่ปุ๋ย สามารถเน้นปุ๋ยสูตรโพแทสเซียมอย่างเดียวได้เลย หรือจะให้ดี เน้นปุ๋ยสูตรไนโตรเจนและฟอสฟอรัส 1 ส่วน ผสมกับสูตรโพแทสเซียม 2 ส่วน เพื่อช่วยเร่งปริมาณตาดอกที่กำลังจะออกให้เพิ่มมากขึ้น
ที่สำคัญธาตุโพแตสเซียมจะละลายน้ำได้ดีมาก จึงทำให้ถูกกำจัดออกจากดินโดยง่าย เช่นหากใส่ปุ๋ยแล้วรดน้ำมากๆ อาจทำให้ธาตุโพแทสเซียมสลายไป พืชก็ไม่ได้รับสารอาหารเท่าที่ควร และหากพื้นที่นั้นมีลักษณะเป็นหินหรือทรายยิ่งทำให้ธาตุอาหารหลุดหายมากยิ่งขึ้น แต่หากดินที่มีเนื้อดินที่ละเอียด เช่น ดินเหนียว ก็จะมีปริมาณของธาตุนี้อยู่สูงกว่าดินปกติ แต่สภาพดินเหนียว ก็เป็นอุปสรรคต่อการดึงสารอาหารของรากพืช ทางแก้ก็คือ
ให้เติม แคลเซียม ลงไป ซึ่งแคลเซียมเป็นธาตุอาหารในดินที่มีความสำคัญกับพืชอีกชนิดหนึ่ง มีส่วนช่วยให้ลำต้นพืชเจริญเติบโตและแข็งแรงได้ตามปกติ ธาตุแคลเซียมส่วนใหญ่จะมีเพียงพอในดินทั่วไป หากเป็นดินเหนียวหรือดินที่มีสภาพเป็นกรด พืชอาจดึงธาตุแคลเซียมไปใช้ได้ยาก การเติมปูนขาว ปูนมาล เปลือกหอยเผา ขี้เถ้า เปลือกไข่ กระดูกสัตว์ป่น เพิ่มเข้าไปรอบโคนต้น ก็จะทำให้ดินมีแคลเซียมที่เพียงพอให้พืชได้ดูดซึมสารอาหารได้โดยตรง
อาการขาดธาตุอาหารโพแทสเซียมของพืช อาจทำให้เกิดการตายเฉพาะส่วน หรือเกิดการเหลือง ไหม้ ระหว่างเส้นใบ (interveinal chlorosis)
การเพิ่มโพแทสเซียมในดินทำได้ง่ายๆ ด้วยการหมักปุ๋ยที่มีส่วนผสมจากวัสดุธรรมชาติอย่าง กระเจี๊ยบ ผักโขม ฟักทอง แตง ผงโกโก้ ทานตะวันอ่อน ก็สามารถเพิ่มสารอาหารโพแทสเซียมในดินให้แก่พืชได้มากมายและเพียงพอสำหรับพืชอย่างแน่นอน
ปุ๋ยหมักชีวภาพจากพืชสด ได้สารอาหารครบถ้วน
แนะนำ “ทำปุ๋ยหมักชีวภาพจากพืช ได้ปุ๋ยหมักที่มีธาตุและสารอาหารที่พืชต้องการครบถ้วน ลดอาการขาดธาตุอาหารพืช ได้ดี” ด้วยการใช้วัสดุดังนี้
กระถิน แหนแดง ใบทองหลาง ก้ามปู มูลสัตว์ ผักบุ้งจีน บัวบก ลูกยอ สาหร่ายทะเล กระเจี๊ยบ ผักโขม ฟักทอง แตง ผงโกโก้ ทานตะวันอ่อน ใบตำลึง ลูกตำลึงสุก ฟักทอง ไชเท้า มันแกว น้ำต้มหอยนางรม เปลือกไข่ ผักกระเฉด มะระ ต้นกก ผักตบชวา กระเทียม หอมใหญ่ หอมแดง สะตอ ผักชี พริก ใบฟักทองแก่ น้ำต้มปลาหมึก ผักบุ้ง เสาวรส พืชเถาว์ แกลบดำ แกลบดิบ หินภูเขาไฟ เห็ดฟาง ต้นหรือใบข่า วัชพืช มะเขือเทศสุก
เหล่านี้ แทบจะได้ธาตุและสารอาหารที่พืชต้องการและมีความจำเป็นต้องใช้ครบทุกตัว ทำไว้เยอะๆ ก็ไม่จำเป็นต้องมีปุ๋ยเคมีใดๆ ให้เปลืองเงินแล้ว
ความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ที่น่าสนใจ ล่าสุดในตอนนี้
ปราชญ์ชาวบ้าน
ผู้กำเนิดแนวคิด สวนเกษตรคอนโด 9 ชั้น
คุณสมบูรณ์ ศรีสุบัติ หรือ ลุงนิล อายุ 66 ปี จากชุมพร ผู
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมเทคนิคและวิธีการ
กาแฟอาราบิก้า พันธุ์ที่ชาวมาเลเซียนิยมดื่ม
เชื่อว่าหลายคนมักจะเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยกาแฟแก้วโปรด
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมสายพันธุ์ข้าวไทย
ข้าวไร่สามเดือน พันธุ์ทนแล้ง ให้ผลผลิตเร็ว
ข้าวไร่สามเดือน สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเร็วในเวลาแค่ 3 เด
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมบทความน่ารู้
ไม้ผล 50 ชนิด ที่ควรปลูกไว้ติดสวน
สำหรับใครที่อยากรู้ว่า ในสวนนั้น ควรปลูกอะไรบ้าง เราขอแ
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมสายพันธุ์ข้าวไทย
ข้าวอะไรที่คนไทยไม่เคยได้กิน
ข้าวหอมมะลิแท้ๆ ที่คนไทยบางคน อาจยังไม่เคยได้สัมผัสถึงร
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมเทคนิคและวิธีการ
ปลูกมะพร้าวน้ำหอม ทำอย่างไรให้ต้นเตี้ยลูกดก
มะพร้าวน้ำหอม เป็นพืชเศรษฐกิจอีกตัวหนึ่งที่น่าปลูกไว้ติ
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติม
เทคนิค วิธีการ
พื้นที่น้อย
การทำปุ๋ย
ขยายพันธุ์พืช