เกษตรอินทรีย์ คืออะไร
เกษตรอินทรีย์ (Organic Agriculture) คือ การทำเกษตรด้วยวิธีธรรมชาติ โดยหลักการของเกษตรอินทรีย์นั้น มุ่งเน้นไปยังพื้นที่เกษตร ต้องไม่มีสารพิษหรือสารเคมีตกค้าง ในทางดิน ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อคงความสมดุลของระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติให้ได้มากที่สุด โดยมุ่งเน้นการใช้ปัจจัยการผลิตและการจัดการอย่างเป็นระบบ ภายใต้มาตรฐานเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการและปลอดสารพิษ และสามารถประยุกต์ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติเพื่อคุณภาพชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ข้อกำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญ 6 ประการ
-
ระบบนิเวศการเกษตร
ระบบเกษตรอินทรีย์ ต้องเอื้อต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งดินและน้ำ คงความหลากหลายทางชีวภาพและสภาพนิเวศท้องถิ่นดั้งเดิม เพื่อให้พืชพรรณและสัตว์ท้องถิ่นสามารถมีที่อยู่อาศัยได้อย่างเพียงพอ
-
การปรับเปลี่ยนเพื่อเข้าสู่เกษตรอินทรีย์
เริ่มจากมีแผนการที่ชัดเจน สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐาน โดยปรับเปลี่ยนฟาร์มทั้งหมดเข้าสู่เกษตรอินทรีย์พร้อมกัน หรือค่อยๆ ปรับไปบางส่วน และต้องระบุขั้นตอน ระยะเวลา ในการปรับเปลี่ยนจนเข้าสู่เกษตรอินทรีย์เต็มทั้งหมด จัดแยกระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์และไม่ใช่เกษตรอินทรีย์ออกจากกัน
-
การผลิตพืชแบบอินทรีย์
การปลูกพืช ควรเลือกปลูกพืชที่หลากหลาย เพื่อสร้างเสถียรภาพและความยั่งยืนของนิเวศฟาร์ม ปลูกพืชหมุนเวียน จัดระบบการปลูกพืชให้มีพืชคลุมดินอยู่ตลอดทั้งปี
-
การจัดการดินและธาตุอาหาร
เป็นพื้นฐานสำคัญของระบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน รวมถึงการจัดการให้มีธาตุอาหารอย่างเพียงพอกับพืชที่เพาะปลูก และเพิ่มพูนอินทรียวัตถุให้กับดินอย่างต่อเนื่อง สร้างกลไกของการหมุนเวียนธาตุอาหารในฟาร์ม การป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และการสูญเสียของธาตุอาหาร การจัดหาแหล่งธาตุอาหารพืช ควรเน้นที่ผลิตขึ้นได้ภายในระบบฟาร์ม (ดูเรื่อง การปรับปรุงดิน และการผลิตปุ๋ยชนิดต่างๆ)
-
การป้องกันกำจัดศัตรูพืช
เน้นที่การเขตกรรม การจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี และวิธีกลเป็นหลัก เพื่อสร้างสมดุลของระบบนิเวศการเกษตร ที่ทำให้พืชที่เพาะปลูกพัฒนาภูมิต้านทานโรคและแมลง หากการป้องกันไม่เพียงพอ เกษตรกรสามารถใช้ปัจจัยการผลิตสำหรับควบคุมและกำจัดแมลงศัตรูพืชที่กำหนดอนุญาตไว้ในมาตรฐานได้ (ดูเรื่อง สารทดแทนเคมีที่สามารถใช้กับการทำเกษตรอินทรีย์ได้)
-
การป้องกันมลพิษ การปนเปื้อน และการปะปน
ต้องมีมาตรการในการป้องกันมิให้ดินและผลผลิตเกษตรอินทรีย์ปนเปื้อนจากมลพิษ และสารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตร ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในระบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งรวมถึงโลหะหนัก และมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชน รวมทั้งมีมาตรการในการลดการปนเปื้อนแก่พื้นที่ทำเกษตรและผลผลิตที่ได้

เกษตรผสมผสานคืออะไร
คือ ระบบการทำเกษตรที่มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ไปพร้อมกัน โดยมีพืช และสัตว์ หลากหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน
ทุกกิจกรรมการผลิต จะต้องเกื้อกูล เอื้อประโยชน์ต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนก่อให้เกิดประโยชน์ และความสมดุลของสภาพแวดล้อมได้อย่างลงตัวทั้งชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์
ตัวอย่างเช่น การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ปลูกพืชผัก ไม้ยืนต้น ไม้ล้มลุก มีแหล่งน้ำอุปโภค เลี้ยงปลาเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิด มูลสัตว์ก็นำไปทำปุ๋ยบำรุงดิน ในสวนก็มีปลูกพืชหลากหลายทั้งพืชคลุมดิน และไม้ยืนต้นเพื่อให้ร่มเงาแก่พืชต้นเล็กให้สามารถเติบโตต่อไปได้ สัตว์มีอาหารกินอุดมสมบูรณ์ได้ภายในพื้นที่ โดยมีการจัดการเรื่องดิน น้ำ แสงแดด และสภาพอากาศได้อย่างเหมาะสม เกิดความสมดุลของสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

เกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน
เป็นการทำเกษตรอินทรีย์หลายอย่างในพื้นที่เดียวกันโดยวิถีธรรมชาติ ทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ไปพร้อมกันในพื้นที่เดียวกัน เหมือนกับความหมายของการทำเกษตรผสมผสาน แต่ทุกกิจกรรมจะเน้นไปในด้านวิถีธรรมชาติ และไม่ใช้สารเคมีใดๆ ในการทำเกษตร

เกษตรอินทรีย์ชีวภาพ คืออะไร
เกษตรอินทรีย์ชีวภาพ (Bio Organic Agriculture) เป็นวิธีทำเกษตรอินทรีย์แบบองค์รวมที่ให้ผลมากกว่าเกษตรอินทรีย์ทั่วไป โดยเน้น 2 ด้านคือ
- คุณภาพผลผลิต ปริมาณสารอาหารและรสชาติตามธรรมชาติ โดยคำนึงถึงประโยชน์หลายด้าน ทั้งต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมโดยรวม
- ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน และน้ำให้มีประสิทธิภาพสูง เพื่อผลผลิตที่มีคุณภาพ ในขณะเดียวกันก็ใช้ทรัพยากรในการผลิตน้อยลง
แนวคิดพื้นฐานของเกษตรชีวภาพ คือ การบริหารจัดการด้านการผลิตแบบองค์รวม แตกต่างอย่างชัดเจนจากการเกษตรแผนใหม่ที่มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตชนิดใดชนิดหนึ่ง เป็นการพัฒนาเทคนิคต่างๆ เกี่ยวกับการให้ธาตุอาหารพืชและป้องกันกำจัดสิ่งมีชีวิตอื่นที่อาจมีผลในการลดคุณภาพผลผลิต

ประโยชน์ของเกษตรอินทรีย์
การทำเกษตรอินทรีย์มีประโยชน์อย่างมากในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผลผลิตที่ได้ปราศจากสารพิษโดยสิ้นเชิง เกษตรกรผู้ทำเกษตรอินทรีย์ในระยะแรกอาจไปไม่รอด เนื่องจากว่าสภาพแวดล้อมและพื้นที่เกษตรส่วนใหญ่ผ่านการทำเกษตรแบบเคมีมาแล้วเนิ่นนาน จากปัจจัยเหล่านี้ทำให้การปรับตัวของเกษตรกรเอง และพื้นที่ทำเกษตรกร จะต้องใช้ระยะเวลานานกว่า แต่เมื่อทำสำเร็จจะสามารถได้ประโยชน์จากการทำเกษตรอินทรีย์ดังนี้
- พื้นที่เกษตรสามารถพึ่งพาอาศัยได้เองตามธรรมชาติ ลดแรงงานและการจัดการพื้นที่
- ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ในด้านการจัดการดินและน้ำ
- คุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ประสบปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ
- สร้างงาน สร้างประโยชน์ ลดการแออัดของแรงงานในตัวเมือง
- สร้างรายได้อย่างยั่งยืน
- ชุมชนเข้มแข็งขึ้น ประเทศก็พัฒนาขึ้น
- ฯลฯ.
ดูตัวอย่าง การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำอย่างไรถึงได้ผล เพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในการทำเกษตรอินทรีย์

ตัวอย่างการทำเกษตรอินทรีย์
เรา คือผู้เผยแพร่แนวทางในการทำเกษตรอินทรีย์ที่เข้าใจง่าย และทำได้จริง เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปปฏิบัติสำหรับผู้สนใจที่หันมาเอาดีด้านการทำเกษตร ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หรือมือเก่า โดยไม่ได้คำนึงว่าผลลัพธ์จะถูกต้องตรงตามตำราเป๊ะ แต่ยึดหลักการที่ผู้ทำกิจกรรม จะมีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย เรียบง่าย มีความสุข และสามารถอยู่รอดได้ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน เท่านั้นเอง
ดูเนื้อหา ตัวอย่างการทำเกษตรอินทรีย์ทั้งระบบ