พริกขี้หนูหัวเรือ พันธุ์ใหม่ ที่อยากแนะนำ หลังจากที่ได้ลงเรื่อง เทคนิคการปลูกพริกขี้หนูให้ลูกดก ไปแล้ว วันนี้มาว่ากันด้วยเรื่องพริกๆ อีกชนิดหนึ่งที่เกษตรกรนิยมปลูกกันมาก และคิดว่าผักสวนครัวรั้วกินได้ชนิดนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งอย่างที่ควรมีไว้ติดบ้านอย่างแน่นอน
ภาพพริกหัวเรือ จาก ThaiPBS ภัตตาคารบ้านทุ่ง
โดยเฉลี่ยคนไทยบริโภคพริกคนละ 5 กรัมต่อวัน เทียบกับประชากร 60 ล้านคน มีการบริโภคพริกมากถึง 109,500,000 กิโลกรัมต่อปีทีเดียว และพริกที่เป็นพันธุ์ที่มีการบริโภคกันมากสายพันธุ์หนึ่งก็คือ พริกขี้หนูหัวเรือ สายพันธุ์ใหม่ และพื้นที่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็เป็นแหล่งปลูกพริกชนิดนี้
ปัจจุบันมีการขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น โดยพื้นที่ปลูกมากที่สุดอยู่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี แม้ที่ผ่านมาเกษตรกรที่ปลูกพริกสายพันธุ์นี้ จะพบปัญหาเรื่องผลผลิตต่อไร่ต่ำลงเรื่อยๆ เพราะสายพันธุ์ไม่ค่อยได้มาตรฐานเท่าที่ควร
ดังนั้น ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ จึงได้คัดเลือกพันธุ์พริกหัวเรือแบบสายพันธุ์บริสุทธิ์ และได้ทดสอบสายพันธุ์ในไร่ของเกษตรกร จนกระทั่งได้พริกขี้หนูสายพันธุ์ใหม่ ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์ที่เกษตรกรเก็บพันธุ์เองถึง 14 เปอร์เซ็นต์ แต่กระนั้นก็ใช้เวลาถึง 7 ปีในการคัดเลือกสายพันธุ์ให้ได้สายพันธุ์บริสุทธิ์แท้ๆ
พริกขี้หนูหัวเรือ สายพันธุ์ใหม่ ดีอย่างไร
สายพันธุ์แท้ของพริกขี้หนูหัวเรือ ต้อง “พันธุ์หัวเรือ ศก.13” เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับพันธุ์พริกขี้หนู ที่เกษตรกรใช้ปลูกกันอยู่พบว่า พันธุ์หัวเรือ ศก.13 ให้ผลผลิตสูงกว่าถึง 14%
เกษตรกรที่นำพริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่ ไปปลูกในเชิงพาณิชย์ พบว่า เมื่อมีการบำรุงรักษาที่ดีจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เฉลี่ยไร่ละ 2,500-3,200 กิโลกรัม ต่อไร่
พริกขี้หนูหัวเรือ ลักษณะเด่นของสายพันธุ์ใหม่
ผลสดมีสีแดงปนส้มเล็กน้อย ผลตรง ขนาดผลใหญ่ ยาว 7.8 เซนติเมตร ผลกว้าง 1.03 เซนติเมตร ขนาดของทรงพุ่มกะทัดรัด มีความสูงและเส้นผ่าศูนย์กลางของต้น ประมาณ 80-90 เซนติเมตรเท่านั้น หลังจากย้ายปลูกลงแปลวแล้วจะมีอายุการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ 90 วัน ที่สำคัญคือ พันธุ์ใหม่นี้ เป็นพริกขี้หนูที่มีขนาดของผลสม่ำเสมอและให้ผลผลิตดกมาก
พริกหัวเรือสายพันธุ์ใหม่ ศก.13 ให้ผลผลิตต่อไร่สูงมาก
พริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่ นี้จัดเป็นพริกขี้หนูผลใหญ่ที่มีความเผ็ดมาก ทางชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรจังหวัดพิจิตร ได้ทดลองปลูกพริกหัวเรือพันธุ์ใหม่นี้แล้วพบว่า เป็นพริกที่ให้ผลผลิตดี ติดผลดก ผลผลิตต่อไร่สูงมาก และที่สำคัญเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างสูง นิยมนำมาใช้รับประทานสดและทำเป็นพริกแห้งได้ดีมาก
พริกขี้หนูหัวเรือสายพันธุ์ใหม่ การเพาะเมล็ด
พื้นที่การปลูกจะต้องเป็นที่ดอน น้ำไม่ท่วม ดินดีและมีความเป็นกรด-ด่างอยู่ที่ประมาณ 6-6.8 มีอินทรียวัตถุพอสมควร มีความร่วนซุยระบายน้ำได้ดี ไม่มีไส้เดือนฝอยรากปม
การปลูกเริ่มจากการเพาะต้นกล้าพริกตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ถึงกลางเดือนสิงหาคม เนื่องจากระยะนี้น้ำมาก ทำให้กล้าพริกเจริญเติบโตได้ดี ไม่ขาดน้ำ เพื่อผลิตกล้าสำหรับรอปลูกในเดือนกันยายน
เหตุผลที่ไม่นำกล้ามาปลูกในช่วงกันยายนนั้น ก็เพราะในช่วงดังกล่าวฝนจะตกชุกที่สุด เมื่อปลูกอาจทำให้ต้นกล้าพริกเน่า เพราะน้ำขังแปลงปลูก หรือดินแน่นเกินไปรากไม่เดิน ไม่อย่างนั้นก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการเพาะต้นกล้าใส่ถาดหลุม เพื่ออนุบาลต้นกล้าให้แข็งแรงก่อนนำลงปลูกในร่องไปอีก 1 เดือนเป็นอย่างน้อย
เมล็ดพันธุ์ที่จะนำมาเพาะต้องเป็นพันธุ์ดี ไม่มีโรคและแมลง
ก่อนเพาะ 1 วัน ต้องนำไปแช่น้ำอุ่น 55 องศาเซลเซียส (น้ำเย็น 1 ส่วน+น้ำเดือด 1 ส่วน) นาน 20 นาที เพื่อฆ่าเชื้อแอนแทรกโนส (กุ้งแห้ง) ที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์
คัดเลือกเมล็ดที่ลอยน้ำออกทิ้งไป เพราะเป็นเมล็ดไม่สมบูรณ์ หรือลีบ ใช้เพาะไม่ได้ผล
หลังจากนั้นนำไปแช่ในสารละลายสปอร์เชื้อไตรโคเดอร์ม่าสด (เชื้อสด 4 ถุง+น้ำ 100 ลิตร) แช่เมล็ด 1 คืน จึงเพาะในกระบะหลุมละ 1 เมล็ด กลบดิน เก็บถาดในที่ร่มรำไร รดน้ำบางๆ ก่อนใช้ตาข่ายพรางแสง ระวังอย่าให้ถูกฝนโดยตรง
หลังจากงอกได้ 15 วัน ให้พ่นน้ำหมักชีวภาพ สูตรบำรุงต้นอัตรา 2-3 ช้อนแกง/น้ำ 20 ลิตร (พ่นทุก 7-10 วัน) หรือหัวเชื้อจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง จะทำให้ต้นโตเร็วขึ้น ไม่ควรใช้ยูเรีย เพราะต้นกล้าจะอวบเกินไป เมื่อต้นกล้าอายุ 1 เดือน หรือมีใบจริง 2-3 ใบ ก็นำมาปลูกได้ หรืออีกวิธีคือการเพาะต้นกล้าในแปลงที่อยู่ในที่ดอน ใช้ตาข่ายพรางแสงและอย่าให้ถูกฝนโดยตรงเช่นกัน ดู วิธีการทำน้ำหมักชีวภาพ และหัวเชื้อจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง
การหว่านเมล็ดพริกขี้หนู โดยไม่ต้องเพาะเมล็ด
วิธีการเตรียมเมล็ดทำเหมือนการเพาะในกระบะทุกอย่าง ส่วนวัสดุเพาะใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่าสด ผสมปุ๋ยหมักแห้ง อัตรา 2-3 กิโลกรัม/10 ตารางเมตร ร่วมกับหว่านปูนขาว 0.5-1 กิโลกรัม/10 ตารางเมตร คลุกเคล้าให้เข้ากันดี จึงหว่านเมล็ด โดยพื้นที่ 5 ตารางเมตร จะใช้เมล็ดพันธุ์พริกหัวเรือ ศก.13 หว่านประมาณ 50 กรัม กลบดินให้เมล็ดจมดินทุกเมล็ด อย่าให้เมล็ดอยู่เหนือดิน เมื่ออายุ 1 เดือน หรือกล้าพริกมีใบจริง 2-3 ใบ จึงถอนแยกต้นที่ชิดกัน นำไปปลูกแซม
การปลูกพริกขี้หนูหัวเรือ ลงแปลงหรือลงกระถาง
หลังเตรียมดินดีแล้ว พร้อมปรับสภาพดินโดยใส่ปูนขาวโดโลไมต์ อัตรา 20-25 กิโลกรัม/ไร่ ก่อนปลูกรองพื้นด้วยปุ๋ยหมักแห้ง อัตรา 150-200 กิโลกรัม/ไร่ (ผสมปุ๋ยหมักแห้ง 100 กิโลกรัม+เชื้อสด 4 ถุง ถุงละ 250 กรัม+รำ 5 กิโลกรัม) ซึ่งเกษตรกรที่นิยมปลูกแบบปักดำ กดรากลงในดินจะทำให้โคนต้นกล้าพริกช้ำง่าย ต้นกล้าจึงต้องใช้เวลาฟื้นตัวนาน ถ้าต้องการให้ต้นกล้าดูดอาหาร แตกกิ่งได้เร็วขึ้นควรปลูกแบบหลุม และยกร่องเพื่อป้องกันน้ำขัง ในหลุมรองพื้นด้วยปุ๋ยหมักแห้ง (ผสมปุ๋ยหมักแห้ง 100 กิโลกรัม+เชื้อสด 4 ถุง ถุงละ 250 กรัม+รำ 5 กิโลกรัม) อัตราหลุมละ 100 กรัม ก่อนปลูกแช่รากพริกด้วยเชื้อสด 4 ถุง ถุงละ 250 กรัม ละลายในน้ำ 100 ลิตร แช่นาน 30 นาที จนกว่าจะปลูกเสร็จ (ถ้าปลูกไม่เสร็จ ให้ละลายเชื้อใหม่อย่าแช่รากทิ้งไว้)
การปลูกแบบหลุมเมื่อรากฟื้นตัวจะดูดอาหารได้ทันที และป้องกันโรครากเน่าและโคนเน่าด้วย ซึ่งในฤดูฝนเสี่ยงต่อโรคในดินหลายชนิด ควรฉีดสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงเป็นระยะๆ หรือตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงของการเจริญเติบโตของพริก
การดูแลรักษา พริกหัวเรือพันธุ์ใหม่
หลังปลูก 15 วัน พ่นน้ำหมักชีวภาพ สูตรบำรุงต้น อัตรา 2-3 ช้อนแกง/น้ำ 20 ลิตร (พ่นทุก 7-10 วัน จนออกดอก) พ่นน้ำหมักชีวภาพ สูตรบำรุงผล อัตรา 2-3 ช้อนแกง/น้ำ 20 ลิตร (พ่นทุก 7-10 วัน จนถึงเก็บเกี่ยว) พ่นแคลเซียมไนเตรต (15-0-0) อัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ในช่วงติดผลเล็กเพื่อแก้ปัญหาเกิดผลนิ่ม ปลายผลเหี่ยวเนื่องจากการขาดธาตุแคลเซียมและป้องกันไม่ให้เชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคกุ้งแห้งเข้าทำลายซ้ำ พ่นสปอร์เชื้อสด 4 ถุง ถุงละ 250 กรัม+น้ำ 200 ลิตร ร่วมกับน้ำหมักชีวภาพทุก 1 เดือน ถ้ามีไร โรค แมลงศัตรูทำลาย ให้ใช้สารเคมีตามความเหมาะสมหรือพ่นสลับกับน้ำหมักสมุนไพร
การให้น้ำ การคลุมดิน และการเก็บเกี่ยวพริกหัวเรือสายพันธุ์ใหม่
การให้น้ำ
เน้นเรื่องการให้น้ำในการปลูกว่า ในระยะแรกเมื่อปลูกลงแปลงควรจะให้น้ำเป็นประจำทุกวัน เมื่อต้นเจริญเติบโตขึ้นให้สังเกตความชื้นของดิน ถ้าดินมีสภาพการอุ้มน้ำที่ดีอาจจะเว้นระยะเวลาการให้น้ำได้หลายวัน
การคลุมดิน
การใช้วัสดุคลุมดินยังมีความสำคัญ ที่หาง่ายที่สุดคือ ฟางข้าว เพื่อช่วยรักษาความชื้นของดินและลดการระเหยของน้ำ ไม่ควรใช้แกลบดิบคลุม เนื่องจากแกลบดิบจะเกิดการสลายตัวและแย่งธาตุอาหารของพืชไปใช้ได้ มีผลทำให้ต้นพริกชะงักการเจริญเติบโตและผลผลิตลดลง
การพรวนดิน
เนื่องจากพริกจะแผ่รากกระจายอยู่ใกล้ผิวดิน จึงต้องระวังอย่าให้รากกระทบกระเทือนเพราะจะชะงักการเจริญเติบโต จะทำให้ต้นพริกโค่นล้มง่าย การให้ปุ๋ยควรขุดหลุมตามบริเวณกว้างของใบพริกที่แผ่ไปถึง อย่าใส่ชิดโคนต้น ข้อควรระวังในการเก็บเกี่ยว พริกขี้หนูหัวเรือ ซึ่งจะเก็บเกี่ยวครั้งแรกเมื่อต้นพริกมีอายุประมาณ 100-120 วัน พบว่ามีเกษตรกรบางรายนำผลผลิตพริกมากองสุมรวมกัน ซึ่งอาจจะทำให้เน่าเสียได้ ผลผลิตที่เก็บได้ควรจะเก็บไว้ในที่ร่ม
จากการสำรวจแปลงปลูก พริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่ ของเกษตรกร ส่วนใหญ่เป็นพริกขี้หนูที่มีสภาพต้นเตี้ย ให้ผลผลิตเร็วและดกมาก ที่สำคัญคือขนาดของผลสม่ำเสมอกันทั้งแปลง อัตราการเป็นโรคต่ำ ผลผลิตดี
อ้างอิง matichon.co.th / dailynews.co.th / technologychaoban.com
ความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ที่น่าสนใจ ล่าสุดในตอนนี้
ปรับปรุงดิน การทำปุ๋ย
ทำปุ๋ยหมัก หัวเชื้อ EM เร็วสุดกี่วันถึงเห็นผล
ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยอินทรีย์ เป็นปุ๋ยที่ได้จากธรรมชาติชนิด
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมการเลี้ยงสัตว์ ปราชญ์ชาวบ้าน
ปราชญ์ปลาหมอไทยแห่งบ้านแพ้ว
บทความนี่ เขียนเพื่อที่จะเชิดชูปราชญ์ชาวบ้านในประเทศไทย
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมเทคนิคและวิธีการ
สร้างรายได้ด้วยการปลูกสละ
จากข้อมูลที่แนะนำเข้ามา ว่าการปลูกสละ สามารถสร้างรายได้
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมเกษตรในพื้นที่น้อย
ปลูกต้นไม้และทำเกษตรบนคันดิน Hugelkultur
หมดปัญหาเรื่องพื้นที่น้ำท่วมขัง น้ำท่วมก็ไม่ตายหากเลือก
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมบทความน่ารู้ เกษตรในพื้นที่น้อย
ปลูกผักใส่ในขวด แขวนหรือตั้งไว้ ได้ประโยชน์มาก
มีเพื่อน ๆ หลายคนส่งเมล์เข้ามาว่าอยากให้เขียนเรื่อง การ
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมเทคนิคและวิธีการ
พริกในเมืองไทย เผ็ดร้อนแค่ไหน อยากรู้มาดูตรงนี้
ระดับความเผ็ดของพริกเมืองไทย เผ็ดขนาดไหน ทำไมฝรั่งถึงร้
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติม
เทคนิค วิธีการ
พื้นที่น้อย
การทำปุ๋ย
ขยายพันธุ์พืช