แก่นตะวัน ชื้อนี้มีใครเคยได้ยินมาบ้าง มีหลายชื่อเรียก ทั้ง ทานตะวันหัว แห้วบัวตอง แถมมีชื่อภาษาอังกฤษว่า เยรูซาเล็ม อาร์ติโช้ก (Jerusalem artichoke) เหมือนชื่อเมือง ผสมกับอาหารอะไรบางอย่าง
บ้างก็เรียกกันว่า ซันโช้ก (sunchoke) แก่นตะวัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Helianthus tuberosus L. ต้นกำเนิดไม่ได้มาจากประเทศไทย แต่เป็น พืชต่างประเทศ
รู้จัก แก่นตะวัน ให้ถึงแก่น
ต้นแก่นตะวัน พืชชนิดนี้ บางพื้นที่ในเมืองไทยถือเป็นว่าน เป็นสมุนไพร แต่ในความจริงคือ เป็นพืชดอกในกลุ่ม ต้นทานตะวัน มีต้นกำเนิดในแถบตอนใต้ของประเทศแคนาดา และทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา แม้จะไม่ใช่พืชพื้นเมืองบ้านเรา แถมยังมีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศ มาจากสถานที่ซึ่งมี อากาศ ที่ค่อนข้างหนาวเย็น
แต่เจ้าต้นนี่ ก็มีความทนทานต่อ สภาพภูมิอากาศ และสามารถปลูกได้ดีในเขตร้อน และเขตกึ่งหนาว ได้ด้วยอย่าง ทวีปยุโรป และเอเซียตอนบน ทำให้ต้นแก่นตะวัน กลายเป็นที่รู้จักในหลาย ๆ ภูมิภาค
สำหรับในบ้านเรา การจะปลูกไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีผู้ปลูกแก่นตะวัน อยู่ไม่น้อย โดยทั่วไปแล้ว พืชชนิดนี้ จะสามารถปรับตัวได้ใน เขตร้อน แถมยังทำผลผลิต ได้คุณภาพดีเยี่ยม ไม่แพ้ในแถบประเทศเขตหนาว แม้ว่าจะมีอัตราการงอกและเติบโตดี แต่การให้ผลผลิต ก็ยังคงเป็นช่วงฤดูที่เหมาะสม เช่น ฤดูหนาว และฤดูฝน
แก่นตะวัน
พืชตระกูลเดียวกับทานตะวัน แต่ดอกเล็กกว่า ขยายพันธุ์ด้วยหัว มีสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมาก รสชาติและกลิ่นเฉพาะตัว รับประทานสดได้
การจะทำการปลูกพืชชนิดนี้ ต้องคำนวณระยะให้ผลผลิตที่ชัดเจน เพราะปลาย ๆ หน้าฝน และช่วงหน้าหนาวนั้น เป็นช่วงที่ให้ผลผลิตดีมาก และหัวพันธุ์จะมีธาตุอาหาร และสารอาหารดีมาก เรียกว่าเป็นชนิดพิเศษกันเลย ซึ่งดีกว่าหัวพันธุ์ ที่ได้จากฤดูเก็บเกี่ยวอื่น ส่วนผู้เขียนเอง ก็นำมาปลูกในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งถือว่า ให้ผลผลิตไม่ด้อยไปกว่าภูมิภาคอื่น ทั้งที่มีพื้นที่ปลูกเป็นดินที่ค่อนข้างจะเหนียว
ต้นแก่นตะวัน ลักษณะทั่วไป
ลักษณะของต้นแก่นตะวันนั้น อย่างที่ทราบ คืออยู่ในกลุ่มต้นทานตะวัน ดอกจะมีสีเหลืองสดใส คล้ายดอกบัวตอง และดอกทานตะวัน แต่มีขนาดเล็กกว่า แต่มีหัวใต้ดิน คล้ายกับมันฝรั่ง เพื่อเก็บสะสมสารอาหาร ซึ่งหัวของแก่นตะวัน จากการวิจัยพบว่าเป็นแหล่งสะสมของอินนูลิน (inulin) ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพสูง โดยเฉพาะหากนำมาทำเป็น น้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ก็ไม่แพ้สมุนไพรชั้นดีอื่น ๆ
การขยายพันธุ์แก่นตะวัน สามารถนำหัวไปปลูกได้เลย โดยการเตรียมดินให้ชื้นแฉะเล็กน้อย แล้วฝังหัวไว้เป็นจุด ๆ ไม่นานก็จะเกิดต้นอ่อน ลำต้นจะมีความสูงประมาณ 1 เมตร มีกิ่งมาก ออกดอกแล้วจะค่อย ๆ แห้งเฉา ในช่วงนี้ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้เลย แต่หากปล่อยทิ้งไว้ หัวก็จะงอกต้นใหม่มาเรื่อย ๆ อีกทั้งหัว ก็จะแตกแขนงออก คล้ายแง่งขิง เต็มพื้นที่ไปหมด
หากปล่อยไว้นานหัวอาจจะแก่ สารอาหารที่มีประโยชน์ก็จะถูกดูดไปสร้างหัวใหม่ แง่งใหม่ ทำให้ต้องมีการเก็บเกี่ยว เพราะระยะเวลาเก็บเกี่ยวค่อนข้างสั้น เป็นพืชอายุน้อย ไม่ทนน้ำท่วมเท่าไหร่ ชอบอากาศหนาว
สารอาหารที่มีประโยชน์ในแก่นตะวัน
อินนูลิน
ประกอบด้วยน้ำตาลฟรุ๊กโตส ที่มีโมเลกุลยาว จับยึดไขมันในเส้นเลือดที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น ไขมัน Cholesterol Triglyceride และ LDL จึงลดความเสี่ยงการเป็น โรคหัวใจและหลอดเลือด สร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย ในขณะที่หัวแก่นตะวัน ก็ให้แคลอรีต่ำ ไม่เพิ่มน้ำตาลในเลือด จึงลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวาน
ที่สำคัญ อินนูลิน เป็นสารเยื่อใยอาหาร เป็นไฟเบอร์ชั้นดี ที่ไม่ถูกย่อยในกระเพาะและลำไส้เล็ก สามารถอยู่ในระบบทางเดินอาหาร ได้เป็นเวลานาน เมื่อรับประทานเข้าไป ทำให้ไม่รู้สึกหิว กินอาหารน้อยลง คุณสมบัติเหล่านี้ จึงมีการนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์ ช่วยลดความอ้วน
นอกจากนี้ อินนูลินจะช่วยลดปริมาณแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิด โรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น Coliforms และ E.Coli แต่จะเสริม การทำงานของแบคทีเรีย ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย คือ Bifidobacteria และ Lactobacillus จึงเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้ดีขึ้น
พรีไบโอติก ไฟเบอร์
เพราะเป็นผักหัวที่มีสารเส้นใยสูง มีสารกลุ่มที่เรียกว่า พรีไบโอติกอยู่มาก จึงเป็นตัวช่วยควบคุมน้ำหนักได้เป็นอย่างดี แถมยังมีสรรพคุณ แก้อาการท้องผูก ทำให้สุขภาพลำไส้ใหญ่ดีขึ้น ป้องกันไขมัน และน้ำตาลในเลือดสูง รวมทั้ง ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้ด้วย
หัวแก่นตะวัน เมื่อล้างทำความสะอาดและ แกะหรือขูดเปลือกนอกออกเล็กน้อง ก็สามารถรับประทานสดได้ หรือ จะนำไปปรุงเป็นอาหาร ก็ได้หลายประเภท ต้ม ผัด นึ่ง หรือทำเป็นขนมหวาน ก็ได้ รสชาติจะเหมือนกับ แห้ว หรือ มันแกว แต่จะมีกลิ่นเฉพาะที่ไม่ซ้ำใคร คนที่ไม่คุ้นเคยอาจไม่ชอบ
แก่นตะวัน วิธีการปลูกและขยายพันธุ์
ต้นแก่นตะวัน เป็นพืชที่ปลูกง่าย ชอบดินร่วนปนทราย และระบายน้ำดี ๆ เพราะหากเป็นดินแข็ง หัวหรือแง่งจะเล็ก แต่หากเป็นดินที่ไม่แข็งมาก ลงหัวได้ง่าย แง่งหัวจะใหญ่ หากมีน้ำขังแฉะ จะทำให้หัวเน่าได้ง่ายมาก จึงไม่ควรปลูกในพื้นที่น้ำท่วมขัง
การปลูก สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล แต่แนะนำให้ช่วงปลายฤดูฝน ปลูกแบบพืชไร่ทั่วไป การปลูกในฤดูแล้ง ต้องมีระบบน้ำที่ดี เพราะในระยะแรก จะต้องการน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเพื่อเร่งการเกิดต้นอ่อน การปลูก แนะนำให้ใช้หัว หรือแง่ง ที่สมบูรณ์ แล้วนำมาตัดหรือหั่นให้เป็นท่อน ๆ ยาวท่อนละประมาณ 2-3 เซนติเมตร บ่มหัวที่หั่นแล้วในถังมีความชื้นประมาณ 1 วัน จะกระตุ้นให้เกิดต้นอ่อนบนหัวท่อนพันธุ์ แล้วจึงนำไปปลูกได้เลย
หากไม่ต้องการบ่ม ก็นำหัวลงปลูกได้เลยเช่นเดียวกัน แต่อัตราการงอกจะนานกว่าเล็กน้อย
ขั้นตอนการเตรียมดินปลูก
เริ่มจากการไถครั้งแรก และทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน เพื่อตากดิน และให้ไถครั้งที่ 2 ซ้ำอีกครั้ง เพื่อพรวนดินให้ละเอียด และไถครั้งที่ 3 เพื่อชักร่องปลูก หากลดเวลาการเตรียมดิน แนะนำให้ไถครั้งแรกก่อน แล้วไถคราดพรวนดิน แล้วชักร่องได้เลยเช่นกัน
การปลูกแก่นตะวัน มีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ ปลูกโดยการหยอดหัว และปลูกโดยต้นกล้าที่เพาะเตรียมไว้แล้ว
- ปลูกโดยการหยอดหัวพันธุ์ เมื่อเตรียมหัวพันธุ์เสร็จแล้ว นำหัวพันธุ์ไปคลุกกับยากันเชื้อรา ในอัตราส่วน ตามที่ระบุไว้ข้างขวด และทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที เพื่อให้ยากันเชื้อราซึมเข้าหัวพันธุ์ และนำหัวพันธุ์ไปหยอดตามร่อง ที่ได้เตรียมไว้ ใช้ระยะห่างในการปลูกระหว่างต้น ประมาณ 20 เซนติเมตร หยอดลึกประมาณ 2 ข้อนิ้ว แล้วจึงกลบดิน ทำการรดน้ำให้ชุ่ม และต้องรดน้ำให้ชุ่ม ไปจนกว่าตาพันธุ์จะเริ่มมีการงอก หลังจากนั้นจึงให้น้ำวันเว้นวัน หากเตรียมดินให้ชุ่มแฉะไว้ก่อน จะมีอัตราการงอกที่ดีกว่า
- ปลูกโดยใช้ต้นกล้า การเพาะกล้า ต้องใช้วัสดุเพาะ คือ แกลบเผา 100 % / ถุงขนาด 3×4 นิ้ว / ปูนแดง โดยนำแก่นตาพันธุ์ที่สมบูรณ์ พร้อมที่จะงอก นำไปแช่หรือคลุกกับปูนแดงเพื่อฆ่าเชื้อ แล้วนำไปเพาะในกระบะเพาะชำ หรือถุงที่เตรียมไว้ และใช้แกลบเผากลบหัวพันธุ์ ให้หนาประมาณ 1 เท่าของขนาดหัวพันธุ์ ประมาณ 5–7 วัน ตาพันธุ์จะเริ่มงอก ทำการดูแลรักษา โดยการให้น้ำตามปกติ จนต้นกล้ามีอายุ 10–15 วัน จึงย้ายต้นกล้าไปลงแปลงปลูกได้เลย
การปลูกแก่นตะวัน ในฤดูฝน ต้องใช้ระยะปลูกห่างเล็กน้อย ประมาณ 70 x 50 เซนติเมตร แต่ในฤดูแล้ง อาจจะใช้ระยะปลูกแคบลง 50 x 30 เซนติเมตร เนื่องจากจะมีการเจริญเติบโตน้อยกว่าในช่วงฤดูฝน
การปลูกจากหัวที่มีต้นอ่อน ดินต้องมีความชื้นดีมาก หลังปลูก ควรดายหญ้ากำจัดวัชพืช 1-2 ครั้ง ตามความจำเป็น การใส่ปุ๋ย แนะนำให้ใส่ปุ๋ยพืชไร่ สูตร 15-15-15 อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อมีอายุ 20-30 วันหลังปลูก พืชชนิดนี้ จะออกดอกสีเหลืองอร่าม เต็มทุ่ง จนอาจขนานนามว่า ทุ่งแก่นตะวันบาน นับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดี ไม่แพ้ ทุ่งทานตะวัน เลยทีเดียว
การปลูกในช่วงฤดูหนาว ราวเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม อาจไม่มีดอกให้เห็น ควรปลูกในช่วงกลางหน้าฝน หรือปลายฤดูฝน พืชนี้จะเก็บเกี่ยวได้ เมื่ออายุประมาณ 120-140 วัน
สำหรับการปลูกในฤดูแล้งเก็บเกี่ยวผลผลิตที่อายุ 100-110 วัน โดยสังเกตพบว่าหัวขยายเต็มที่ใช้วิธีขุดหรือถอนเก็บเกี่ยวหัว เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปมีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูง โดยพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงสุด ให้ผลผลิต 2.5-2.8 ตันต่อไร่ ใช้เวลาปลูกเพียง 4 เดือน หากเปรียบเทียบกับมันสำปะหลังที่ให้ผลผลิตระดับเท่านี้ต้องให้เวลาการผลิต 10-12 เดือน
วิธีการปลูกแก่นตะวัน ให้ได้ผลดี
- ใช้พื้นที่ดินร่วนปนทราย และควรขุดหลุมปลูก ให้มีขนาดกว้างและลึกประมาณ 30 เซนติเมตร ต้นแก่นตะวันเมื่อสูงมักจะล้มเอน และแตกต้นใหม่เป็นกอ ๆ
- ยกถุงกล้าต้นไม้ วางในหลุม โดยให้ระดับของดินในถุง สูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อย
- ดึงถุงพลาสติกออก ระวังอย่าให้ดินแตก
- กลบดินที่เหลือลงไปในหลุม
- กดดินบริเวณโคนต้นให้แน่น
- รดน้ำให้ชุ่ม
การให้น้ำแปลงปลูก
การให้น้ำเป็นสิ่งจำเป็นมาก ในการปฏิบัติดูแลรักษา เพราะถ้าปล่อยให้ต้นแก่นตะวันขาดน้ำ ในช่วงแรก ต้นจะโทรมแคระแกรนเร็วมาก ไม่เจริญเติบโต และในที่สุดก็จะตาย โรคและแมลงเข้าทำลายได้ง่าย ระยะที่ปลูกใหม่ ๆ ควรให้น้ำทุกวัน หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อลำต้นตั้งตัวได้แล้ว การให้น้ำควรให้ วันเว้นวัน
แต่เมื่อแก่นตะวันโตแล้ว จะต้องควบคุมการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับช่วงการเจริญเติบโต และสภาพทั่ว ๆ ไป เช่นในระยะที่ออกดอก จะต้องการน้ำน้อย เพื่อให้มีช่วงการสะสมอาหาร และควรลด ปริมาณน้ำ จากที่ให้ปกติ จะช่วยให้ต้นแก่นตะวันและหัวแก่เร็วขึ้น เก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น ส่วนวิธีการให้น้ำ ก็อยู่กับความเหมาะสม เช่น การทำระบบน้ำหยด และการให้น้ำระบบสปริงเกอร์ หรือยกร่องทำแปลง หรืออื่น ๆ แล้วแต่ต้นทุน
หากต้องการให้มีผลผลิตที่ดี หัวใหญ่ ควรกำจัดวัชพืชบ่อย ๆ อย่าปล่อยให้รก และควรมีการพรวนดิน รอบกอพร้อมไปในตัวด้วย ไม่นิยมใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืชกับต้นแก่นตะวัน เพราะแก่นตะวันเป็นพืชที่มีระบบรากตื้น อาจมีการสะสมและปนเปื้อน ทำให้สารเคมีตกค้างในหัว การนำหัวไปบริโภคจะทำให้เกิดอันตรายได้
โรคที่พบบ่อยในต้นแก่นตะวัน
ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถระบุโรคที่แน่ชัดที่เกิดกับพืชชนิดนี้ได้ เพราะไม่ค่อยมีโรคมากนัก ส่วนใหญ่จะเกิดจากการเน่าของหัว เนื่องจากได้รับน้ำมากเกินไปเท่านั้น
โรคและแมลงศัตรูพืชทั่วไป
- โรครากเน่าโคนเน่า ลักษณะอาการ โรคนี้เกิดจากเชื้อรา จะเกิดบริเวณโคนต้นใกล้ผิวดิน อาการเริ่มแรกหัวของแก่นตะวัน จะเป็นจุดและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและเน่า ใบจะเหลืองซีดร่วงหล่น กิ่งเริ่มแห้งและตายในที่สุด การป้องกันโดยการกำจัดวัชพืช บริเวณโคนต้นให้สะอาด และการปลูกควรปลูกให้มีระยะที่เหมาะสม เพื่อให้แสงแดดส่องถึงโคนต้น อย่าให้น้ำขังบริเวณโคนต้นเป็นเวลานาน ๆ
- เพลี้ยอ่อน ทั้งตัวอ่อนและตัว เต็มวัยสามารถเข้าทำลายแก่นตะวัน โดยการดูดกินน้ำเลี้ยงยอดอ่อนและใบเมื่อเริ่มผลออกมาใหม่ ทำให้ใบหงิกงอไม่เจริญเติบโต จะพบระบาดมากเมื่อฝนทิ้งช่วงโดยมีมดเป็นพาหนะในการแพร่กระจาย
การเก็บเกี่ยวผลผลิตแก่นตะวัน
การเก็บผลผลิตของแก่นตะวัน จะเริ่มเก็บได้เมื่อหัวมีอายุประมาณ 4 – 5 เดือน นับจากการปลูก เก็บโดยใช้วิธีการขุดหัว เหมือนหัวมันสำปะหลัง หากเป็นดินร่วน ก็สามารถยกถอนออกมาได้ทั้งกอ เนื่องจากหัวจะอยู่ไม่ลึกจากผิวดินมาก เก็บล้างทำความสะอาด ก็จะได้หัวแก่นที่สะอาด พร้อมบริโภค จะรับประทานสด หรือผ่านความร้อน นึ่ง ต้ม ก็ได้ตามสะดวก
หลังการเก็บเกี่ยว หากต้องการขยายพันธุ์เพิ่มเติม ภายหลังจากการขุดแล้ว นำมาทำความสะอาด โดยการล้างน้ำให้สะอาด และคัดขนาดของหัวใหญ่ และเล็ก เสร็จแล้ว นำไปผึ่งลมให้แห้ง นำหัวที่สมบูรณ์ไปบรรจุถุง เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นหัวพันธุ์ต่อไป วิธีการเก็บก็สามารถทำได้ โดยเก็บไว้ในห้องเย็น ที่อุณหภูมิ 4–10 องศา
แก่นตะวัน นับว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของไทย ที่มีโอกาสพัฒนาไปเป็นพืชทางเลือก เป็นการค้าหรืออุตสาหกรรมในอนาคต ถึงแม้ว่าพืชแก่นตะวัน ไม่ใช่พืชพื้นเมืองของประเทศไทย แต่ว่าเรานำเอาเข้ามาพัฒนาด้วยการศึกษาวิจัย ให้ผลผลิตแล้ว ก็มาพัฒนาเรื่องพันธุ์ของไทย เพื่อที่จะแนะนำเกษตรกรให้ปลูก
สำหรับพืชนี้ เป็นพืชที่อยู่ในเขตหนาวแต่ว่าเรานำเข้ามาแล้วทดสอบดูแล้ว ปรากฏว่ามีการปรับตัวได้ดีในเขตร้อน มีอายุสั้น ประมาณ 120 วัน ให้ผลผลิตสูงประมาณ 2 ถึง 3 ตัน ต่อไร่ เป็นพืชหัว เราสามารถนำเอาหัวมาใช้ประโยชน์ เป็นอาหารได้ทั้งคนและสัตว์
แถมยังสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย ทั้งการบริโภคสด ทำเป็นอาหารคาว หวาน เพราะว่าในหัว มีสารสำคัญเรียกว่า อินนูลิน เมื่อบริโภคเข้าไป จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายดีขึ้น อีกทั้งยังมีไฟเบอร์สูง เป็นตัวช่วยสำหรับคนที่อยากลดความอ้วนได้ดี
ราคาขายหัวแก่นตะวัน ในตลาดตอนนี้ หัวสด ราคาก็ไม่ถูกนะ กก.ละ 50-90 บาท ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ซื้อมากก็ราคาถูก เพราะลดค่าขนส่งไปได้เยอะ
อ้างอิงข้อมูล : ว่านแก่นตะวัน
ความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ที่น่าสนใจ ล่าสุดในตอนนี้
ปราชญ์ชาวบ้าน
ผู้เชี่ยวชาญการขยายพันธุ์ผลไม้
ลุงเอาหินถ่วงปลายผลบวบตั้งแต่เล็ก ได้ผลบวบโตยาวจนคนอึ้ง
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมเทคนิคและวิธีการ
ประโยชน์ของการทำเกษตรอินทรีย์แบบทฤษฎีใหม่มีอะไรบ้าง
หลายคนสังสัยกันว่า เกษตรทฤษฎีใหม่มีประโยชน์อย่างไรกับชา
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมเทคนิคและวิธีการ
ตัวอย่างวิถีเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ทำได้จริงมีอะไรบ้าง
วิถีเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำได้จริงและยั่งยืน กับตัวอย่างที่ได
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมเทคนิคและวิธีการ
บัวบก ยุคนี้ ใบแพงจริงจัง
บัวบก ถึงช้ำในก็ยังต้องกิน ไม่คิดไม่ฝันว่ายุคนี้ (2565)
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมบทความน่ารู้
ต้นมันปู ยอดผักรสดี ประโยชน์มากมาย
ต้นมันปู มันอียาง หรือ นกนอนทะเล ผักพื้นบ้านที่มากด้วยค
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมเทคนิคและวิธีการ
มะละกอฮอลแลนด์ การปลูกแบบพอเพียง
มะละกอฮอลแลนด์ ก่อนที่จะเริ่มต้นการปลูก เกษตรกรต้องทราบ
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติม
เทคนิค วิธีการ
พื้นที่น้อย
การทำปุ๋ย
ขยายพันธุ์พืช