รู้หรือไม่ว่า หากปลูกปอเทือง หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ แล้วรอ 3 เดือนค่อยไถกลบ การปลูกข้าวดำนารอบใหม่ จะทำให้ได้ ผลผลิต ที่มากขึ้น เรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้ เพราะจะได้ผลผลิตเทียบเท่าการทำนาติดต่อกัน 2 ครั้งในรอบ 7 เดือน
แถมดอก ปอเทือง รับประทานได้เหมือนดอกโสน ต้นและใบเป็นปุ๋ยอย่างดี มีไนโตรเจนสูง ช่วยให้ข้าวแตกกอเร็วและมีลำต้นที่แข็งแรง ตั้งท้องรวงข้าวได้เร็วขึ้น ดูข้อมูลเพิ่มเติมว่าไนโตรเจนดีอย่างไรต่อข้าวในนาที่ ธาตุอาหารที่พืชต้องการ
ปอเทือง สมุนไพรและพืชบำรุงดิน
เมื่อก่อนไม่รู้จักว่าเป็นดอกอะไร ตอนแรกเห็นไกลๆ ก็เข้าใจว่าเป็นดอกโสน คิดจะเดินไปเก็บเอามากินกับน้ำพริกที่บ้าน แต่พอเดินไปใกล้ก็เห็นว่าใบไม่เหมือนต้นโสนบ้านนาที่ขึ้นริมทาง เลยนึกสงสัยจึงถามน้าๆ แถวนั้นว่านี่ต้นอะไร ทำไมดอกสวยจัง ทั้งยังลองสังเกตุตอนเช้า-เย็นใบจะหุบ
ยิ่งต้นเล็กๆ ยิ่งหุบเหมือนจอกรอคอยแสงตะวันยามเช้า พอสว่างใบก็เริ่มบานออกดอกเหลืองอร่าม สวยงาม แต่ในตอนนั้นก็ไม่กล้ากินเพราะไม่รู้จักดี พอตอนหลังถึงรู้ว่ากินได้ รสชาติมันๆ ปะแล่ม ต่างจากดอกโสน แต่ก็กินได้
แถวบ้านมีชาวบ้างหลายคน เอาเมล็ดมาหว่านบนคันนา ออกดอกสวยเป็นทิวแถว บางแห่งหว่านลงในแปลงนาเลย 2-3 เดือนก็มีดอกสวย ให้ถ่ายรูปเล่นกัน หลังจากนั้นพวกเค้าจึงไถกลบไปทั้งต้นนั้นเลย
สอบถามได้ความว่า ปอเทือง สามารถบำรุงดินได้ มิน่า น้าๆ เลยเอามาหว่านลงแปลงนาหลังเสร็จสิ้นการเกี่ยวข้าว ส่วนที่มีบนคันนาก็จัดการตัดต้นปอเทืองนี้สับเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยหว่านลงในแปลงนา พร้อมฉีด EM และน้ำหมักจุลินทรีย์ปรับปรุงดินเพื่อให้ย่อยสลายซากพืชได้เร็วชึ้นทดแทนการเผาตอซังเล่น
เสร็จแล้วก็ปล่อยน้ำเข้านาให้ท่วม ประมาณอาทิตย์กว่า ทั้งฟางทั้งต้นปอเทือง ก็เกือบย่อยสลายจนหมดเป็นปุ๋ยชั้นดี พอน้ำลดได้ที่ เมล็ดที่หลงเหลือและหว่านใหม่ก็แทงยอดกันเขียวทั้งแปลงนา นั่นหมายถึงใน 3-4 เดือนนี้พวกเค้าจะไม่ทำนารอบใหม่ เว้นให้ดินได้พักบ้าง
ไถกลบปอเทือง 1 ไร่ ได้ปุ๋ยเท่ายูเรีย 15 กก.
การนำปอเทืองมาปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดและไถกลบจะได้ปุ๋ยไม่ต่างกับซื้อปุ๋ยเคมี
จากการตรวจสอบในห้องแล็บ การปลูกปอเทือง 1 ไร่ แล้วไถกลบตอนอายุ 50 วัน จะทำให้ดินได้ปุ๋ยเทียบเท่ากับปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) จำนวน 15 กก. แต่ถ้าไถกลบในช่วงปอเทืองออกดอกแล้ว หรือมีอายุได้ 90 วัน จะทำให้ที่ดินแปลงนั้นได้ปุ๋ยเคมีสูตร 18-24-60 จำนวน 20 กก.ต่อไร่แบบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย
ที่มา : สำนักงานเขตพัฒนาที่ดิน www.opsmoac.go.th/samutsakhon-local_wisdom-preview-421691791873
สำหรับการบำรุงดินด้วยต้นปอเทืองนั้น ใช้ทดแทนการใช้สารเคมีได้ดีมาก แต่ดูเหมือนเกษตรส่วนใหญ่ที่มีแปลงนาหลายสิบไร่ อาจไม่คุ้มทุนในการนำเมล็ดมาหว่าน เพราะราคาก็ไม่ใช่ถูก หากทำหลายไร่ก็คงไม่พ้นกลับไปใช้สารเคมีเหมือนเดิม เป็นอันว่าเกษตรกรก็ยังไม่พ้นวิบากกรรมการใช้สารเคมี เพราะพื้นที่นามีมาก และต้องเสียค่าเช่านาไปเปล่าประโยชน์เนื่องจากต้องกินต้องใช้ จะไปห้ามไปแนะนำบังคับก็ไม่ได้ซะด้วย
ปอเทืองบำรุงดิน เร่งผลผลิตได้ถึง 2 เท่า
หากหว่านเมล็ดปอเทืองลงบนที่นาทั้งหมด สามารถบำรุงดินได้เต็มพื้นที่ แต่เสียเวลาที่ต้องรอให้ต้นปอเทืองโต จึงแนะนำให้หว่านภายหลังจากไถกลบตอซังแล้ว แต่การลงทุนไถกลบตอซังโดยไม่ได้เริ่มหว่านเมล็ดข้าว ทำให้ต้องลงทุนมากอยู่ ถ้าหากไม่ไถกลบตอซัง ข้าวดีด หญ้า หรือข้าวร่วงก็จะงอกกลับมาใหม่ ดึงแร่ธาตุให้หดหายออกไปอีก แม้จะหว่านเมล็ดปอเทืองให้เติบโต แต่อาจต้องใช้จำนวนมากกว่าเดิม และการไถกลบแปลงนาที่มีทั้งหญ้าและตอซังที่กลายเป็นกอต้นข้าวดีดข้าวทิ้ง ใช่ว่าจะง่ายกว่าการไถปกติ
แต่เพราะปอเทืองนั้น เป็นพืชที่มีคุณสมบัติบำรุงดิน เพิ่มแร่ธาตุอาหารให้แก่ดินได้ดี โดยเฉพาะไนโตรเจนมีมาก หากเป็นการลงทุนในเรื่องปุ๋ย ก็สามารถลดต้นทุนในเรื่องปุ๋ยเคมีไปได้อีกเยอะ การไถกลบปอเทืองลงในแปลงนา จะสามารถแก้ปัญหาให้ดินร่วนซุยมากขึ้น มีปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่ดิน ดินไม่เป็นกรดและสามารถอุ้มน้ำได้ดีขึ้นด้วย
อีกทั้งระบบรากของปอเทือง ยังมีความสามารถตรึงธาตุไฮโตรเจนที่อยู่ในชั้นสูงของบรรยากาศมาเก็บไว้ที่ปมราก ทำให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องซื้อปุ๋ยวิทยาศาสตร์ หรือยูเรียซึ่งมีราคาแพงมาใช้กับการทำนาอีกต่อไป วิธีนี้สามารถประหยัดต้นทุนในการทำนา และจะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย ผลผลิตที่ได้อาจมากกว่าเวลาที่เสียไปราว 2-3 เดือน
การใช้ปอเทืองปรับปรุงบำรุงดินในนาข้าว
การนำปอเทืองมาปลูกเพื่อฟื้นฟูสภาพดินให้กลับมาสมบูรณ์และสามารถทำการเกษตรให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น เพราะปอเทืองเป็นพืชตระกูลถั่วที่มีธาตุอาหารไนโตรเจนสูง นอกจากเป็นปุ๋ยพืชสดแล้ว ยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ส่งขายได้ด้วย การปลูกปอเทืองจึงควรปลูกในระหว่างการเก็บเกี่ยวข้าว โดยหว่านเมล็ดลงไป ระหว่างเกี่ยวข้าวหรือก่อนที่รถเกี่ยวจะเกี่ยวข้าวแล้ว ซึ่งการหว่านในตอนรถเกี่ยวข้าว รถจะเหยียบเมล็ดปอเทืองลงดินไปด้วย เป็นการกลบหน้าดินให้เมล็ดไปในตัว ส่วนการดูแลก็ไม่ยุ่งยาก ปอเทืองไม่ต้องการน้ำมาก ถึงอากาศแล้ง ดินแห้ง ปอเทืองก็จะโตได้ ยิ่งถ้าได้น้ำก็ยิ่งโตเร็วกว่าเดิม
ในพื้นที่ 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ปอเทืองประมาณ 5 กก. ต้นปอเทืองอายุ 2 เดือนก็สามารถไถกลบทำ ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยจากใบไม้ ได้แล้ว หากต้องการเมล็ดพันธุ์ ใช้เวลาราว 3-4 เดือนก็สามารถนำเมล็ดพันธุ์ส่งขายได้
ดอกปอเทืองสีเหลืองสวยสดงดงามสามารถนำมาลวกจิ้มทานกับน้ำพริก รสชาติไม่แพ้ดอกโสน ต้นปอเทืองที่ปลูกอายุประมาณ 120 วัน ฝักจะแก่สามารถเก็บผลผลิตขายได้ราคา 20 บาท/กก. ในพื้นที่ 1 ไร่ จะได้เมล็ดปอเทืองประมาณ 150 กก.
ไถกลบปอเทืองแล้วหว่านข้าว กลัวได้ต้นปอเทืองแทรกในนาข้าว
หากต้นปอเทืองที่อายุ 60-80 วัน จะมีฝักอ่อน ในช่วงนี้ถ้าไม่รอเก็บฝักเพื่อนำเมล็ดพันธุ์ไปขาย สามารถไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดินไปพร้อมกับการเตรียมแปลงนาก่อนการปลูกข้าวได้เลย เมล็ดที่ไถลงนี้ยังไม่แก่พอจะงอกเป็นต้นใหม่ได้ เกษตรกรมั่นใจได้เลย หากมีก็น้อยกว่าหญ้าในแปลงนาและสามารถถอนออกได้ง่ายดาย ไม่ต้องกลัวเมล็ดจะงอกแทรกแซงกอข้าว ควรห่วงว่าหญ้าจะงอกแทรกมามากกว่า เพราะดินดีเหลือเกิน
การปลูกปอเทืองเพื่อใช้ปรับปรุงบำรุงดิน ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนเพื่อไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดก่อนการปลูกพืชหลัก แต่การปลูกปอเทืองช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม เหมาะสำหรับเก็บเมล็ดพันธุ์เพราะจะได้เมล็ดที่มีคุณภาพ หลังจากเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม ฝักแก่ของปอเทืองจะกระเทาะง่าย เอาเมล็ดส่งขายราคาดีสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ไม่น้อย ราคาเฉลี่ย 20–25 บาทต่อกิโลกรัม
ข้อมูลเพิ่มเติม ปอเทือง
ปอเทือง จัดอยู่ใน วงศ์ Leguminosae มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Crotalaria juncea ชื่อสามัญเรียก Sunn hemp, Indian hemp, Madras hemp, Chanvre indien มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปแอฟริกา
คนไทยนำเข้ามาปลูกเพราะสวยดีเวลาเป็นดงดอกไม้คล้ายทานตะวัน ต้นต้นปอเทืองเป็นพืชล้มลุก อายุแค่ปีเดียว มีความสูงประมาณ 1.5-3 เมตร เนื้อไม้สามารถใช้ทำเป็นเยื่อกระดาษได้ ดอกรับประทานได้ และใช้ทุกส่วนบำรุงดินได้ดีมาก
ที่มาของข้อมูล ปอเทือง, จุลินทรีย์บำรุงดิน, ที่ www.ldd.go.th / ปอเทืองในนาข้าว rakbankerd.com
ความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ที่น่าสนใจ ล่าสุดในตอนนี้
พื้นที่น้อย ขุดบ่อเลี้ยงปลาอย่างไรให้คุ้มทุน
หากเรามีพื้นที่น้อย และอยากขุดบ่อเลี้ยงปลา จะทำอย่างไรให้คุ้มทุนที่สุด
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมจุลินทรีย์ที่ใช้ทำเกษตรอินทรีย์
จุลินทรีย์ที่ใช้ทำเกษตร ปกติการทำเกษตรอินทรีย์พื้นฐานง่ายๆ มักจะงดเว้นการใช้สารเคมี และสารเร่งชนิดต่
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมวิธีปลูกแก้วมังกรในกระถาง และริมรั้วแบบง่าย แต่ได้ผลดี
รู้หรือไม่ว่า ต้นแก้วมังกร ไม่ได้ต้องการดินมากก็โตได้ ปลูกในกระถางก็ให้ผลผลิตดี ไม่แพ้ลงแปลงในสวน อี
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมไม้ผล 50 ชนิด ที่ควรปลูกไว้ติดสวน
ไม้ผล 50 ชนิด ตามความจำเป็น และประโยชน์ใช้สอยเด่น เป็นพืชทนแล้ง ทนน้ำท่วม รวมถึงปลูกแล้วให้ผลผลิตได้
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมธรรมชาติน่ายลในนครโฮจิมินห์
แนะนำ 3 สถานที่ท่องเที่ยวโฮจิมินห์ ที่เดินทางสะดวก เข้าถึงได้ฟรี และเป็นสถานที่เที่ยวที่จะได้สัมผัสก
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมอนาคตเกษตรอินทรีย์ จะไปในทิศทางไหน
ระบบเกษตรอินทรีย์ จะมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมในเรื่องดินและน้ำในอนาคต ต้องทำให้เกิดการยอมรับและเพิ่มค
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติม
บทความเกษตรน่าสนใจ
แนะนำบทความเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ที่น่าสนใจ และน่าติดตาม บทความยอดนิยม
แนะนำบทความยอดนิยม ในหมวดต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับสมาชิกที่ต้องการเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์แบบพอเพียง และยั่งยืน เนื้อหาเข้าใจง่าย ทำได้จริง จากผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรโดยตรง
มะม่วงกิมหงส์ พันธุ์เขียวสามรส ให้ผลตลอดปี
มะปรางหวาน และผลไม้ตระกูลเดียวกัน มีอีกเพียบ
การปลูกถั่วฝักยาวแบบพอเพียง ทำได้จริงหรือไม่