บทความนี้จะมาแนะนำเรื่อง การออกแบบโคกหนองนา โดยเน้นถึงจุดประสงค์ของการสร้างประโยชน์ในพื้นที่ ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ว่าควรออกแบบ และดำเนินการอย่างไร สามารถใช้เทคนิคอะไรได้บ้าง
หากใครยังไม่รู้ว่า เนื้อหานี้เกี่ยวกับอะไร แนะนำให้กดเข้าไปดูตามหัวข้อ ด้านล่าง หรือ ด้านขวาก่อน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับ โคกหนองนาโมเดล
ก่อนออกแบบโคกหนองนาโมเดล ควรทำอะไรก่อน-หลัง และดูหัวข้อเด่นในเรื่องนี้
กำหนดจุดประสงค์ และเป้าหมาย เพื่อให้การออกแบบได้ผลจริง
การกำหนดจุดประสงค์เป็นสิ่งสำคัญในการออกแบบโคกหนองนาโมเดล และรวมถึง เป้าหมายที่ต้องการด้วย หากไม่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ว่าต้องการทำอะไร ทำอย่างไร จะทำให้การออกแบบเป็นไปได้ยาก
เพราะจุดประสงค์ที่แท้จริงในการออกแบบโคกหนองนาโมเดล ก็เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน ทำให้เกษตรกร หรือผู้ดูแล ไม่ต้องมีภาระเพิ่ม สามารถจัดการพื้นที่ทั้งหมดได้ ใช้เวลาดำเนินการน้อย รวมไปถึง ลดต้นทุนค่าแรง ค่าดำเนินการ ตัดปัญหาเหล่านี้ได้ทั้งหมด
ตัวอย่างการตั้งจุดประสงค์ของการออกแบบพื้นที่
- เพื่อลดขั้นตอนการทำงานให้น้อยลง เช่น แต่เดิมต้องเดินรดน้ำทั่วทั้งแปลง หรือต้องวางสปริงเกอร์ไว้ทั่วสวน ก็ใช้วิธีการขุดคลองไส้ไก่ หรือหลุมขนมครก เพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย รวมถึงต้นทุนในการดำเนินการอื่น ๆ
- เพื่อให้การดูแลทั่วถึง และเก็บผลผลิตได้ทัน ก็อาจแก้ปัญหาด้วยการ เลือกพื้นที่ปลูกพืชที่ได้ผลผลิตดีไว้ใกล้ ๆ อย่างไหนให้ผลผลิตน้อย นาน ๆ ครั้ง ก็เอาไว้ไกล ๆ นาน ๆ ทีถึงจะออกไปเก็บเกี่ยว
- เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน การแก้ปัญหาคือ ให้ไปเน้นผลผลิตในบางกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูก หรือการเลี้ยงสัตว์ อย่างไหนได้ราคาดีกว่าก็ไปเน้นอย่างนั้นมากหน่อย
- เพื่อความเป็นอยู่พอเพียง หากเน้นแค่พอเพียง ก็อาจใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ เพาะปลูกพืชที่จำเป็น เช่น ข้าว สวนครัว และเสี้ยงสัตว์บ้าง เช่น ไก่ เป็ด หมู ฯลฯ ตามความเหมาะสม เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูง
- เพื่อแก้ปัญหาความแห้งแล้ง อาจต้องใช้พื้นที่ 1/3 หรือ 2/3 เป็นการขุดหนองเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ หากพื้นที่มีความแห้งแล้งสูง เก็บน้ำไม่ได้ ก็จำเป็นต้องใช้วิธีการขุดสระโดยใช้ผ้าใบรองก้นสระ เพื่อป้องกันน้ำซึม หากพื้นที่น้อยก็อาจต้องขุดลึกหน่อย หากพื้นที่มีมาก อาจขุดไว้ตื้น ๆ แต่หลายสระ
การตั้งจุดประสงค์นั้น ก็เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการ และตัดภาระค่าใช้จ่ายที่จะต้องเกิดในอนาคต หากตั้งจุดประสงค์ไว้ แล้วการดำเนินงานจริง ต้องลงทุนสูง มีภาระในการดำเนินการอีกมากมาย ทั้งในขณะเริ่ม และในอนาคต ก็ไม่ถือว่าเป็นวิธีที่ถูกต้องในการออกแบบโคกหนองนาโมเดล
การออกแบบโคกหนองนาโมเดล ที่ได้ผลดี จะต้องช่วยแก้ปัญหาและลดภาระได้ในอนาคต
ส่วนการตั้งเป้าหมาย ว่าต้องการให้อนาคตเป็นอย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ที่มี และการดำเนินการที่สอดคล้องกับจุดประสงค์หลัก แต่หากยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ หรือทำได้ยาก ก็เท่ากับว่า การออกแบบนั้นไม่ได้ตอบโจทย์ ทางแก้ที่ดีที่สุดคือ ปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับพื้นที่เดิม แต่หากมีทุนก็แนะนำว่า ควรจะออกแบบใหม่ไปเลย
อะไรคือสิ่งที่ต้องมี และไม่ควรมี ในการออกแบบโคกหนองนาโมเดล
หลายคนอาจเคยสงสัยว่าทำไม โคกหนองนา จึงต้องขุดสระเป็นรูปร่างแบบนั้นแบบนี้ ในพื้นที่เต็มไปด้วยคลอง แทบไม่มีพื้นที่เพาะปลูก หรือทำกิจกรรมใด ๆ เลย
นั่นเพราะเจ้าของพื้นที่ไม่เข้าใจในหลักการ หรือโดยรวม ๆ แล้ว อาจแค่นึกสนุก จึงทำให้โคกหนองนาที่เราเห็น มักกลายเป็นพื้นที่เล่นของคนรวย ที่อยากมีสวนเกษตร ในอนาคต ก็เขียวขจีเต็มไปด้วยต้นไม้ จะไม่ให้งามได้อย่างไร ก็สระและคลองชุ่มน้ำขนาดนั้น
แต่หากมองลึก ๆ เข้าไปภายในแปลงเกษตร เราอาจเห็นท่อ PVC และสายยาง สปริงเกอร์ ทั่วสวน ก็เลยคิดว่า ถ้าทำแบบนั้นแล้วจะขุดสระทำโคกไปทำไมแต่แรกให้เสียพื้นที่ แล้วอะไรคือสิ่งจำเป็นที่ต้องมีในโคกหนองนา
สิ่งที่ต้องมีในโคกหนองนาโมเดล
- สระน้ำ หากพื้นที่ห่างไกลแหล่งน้ำ และชลประทาน การหาน้ำยาก จำเป็นต้องมีสระน้ำไว้เก็บน้ำเพื่อใช้ประโยชน์
- บ่อบาดาล นอกจากสระน้ำแล้ว หากไม่มีแหล่งน้ำอื่นเลย ทางเลือกสุดท้ายก็ต้องเจาะบ่อบาดาล แต่ต้องมั่นใจว่า คุ้มค่ากับการลงทุน
- บ่อ/หลุมขนมครก หากพื้นที่น้อย การขุดสระกว้าง ๆ อาจทำได้ยาก การมีบ่อ หรือหลุมขนมครก จะเป็นตัวช่วยเก็บน้ำและทำให้พื้นดินชุ่มชื้น
- คลองไส้ไก่ ตัวช่วยผันน้ำจากที่สูงลงที่ต่ำได้ดีกว่าการเลือกใช้ท่อสปริงเกอร์ทั่วแปลงเกษตร
- ปั๊มน้ำ เครื่องสูบน้ำ แทนที่จะหมดไปกับการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และท่อสปริงเกอร์ แต่เลือกปั๊มน้ำ เพื่อสูบน้ำจากสระขึ้นที่สูงแล้วปล่อยให้ไหลไปตามแรงโน้มถ่วงทั่วสระ ก็ลดต้นทุนไปได้เยอะเลย และก็ไม่ได้ต้องเปิดตลอด 24 ชั่วโมง แค่วันละครั้งหรือ 2 ครั้งก็เพียงพอ
- แทงค์น้ำ ถังน้ำ สำหรับเก็บน้ำไว้บนที่สูง การใช้งานก็แค่เปิดให้น้ำไหลออกจากถังเก็บไปหาแปลงเกษตร หรือพื้นที่ที่ต้องการ
- หลอดไฟ/ไฟฟ้า อาจใช้หลอดโซล่าเซลในบางจุด ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัย และแสงไฟยังช่วยเรื่องระบบนิเวศน์ของแมลงกลางคืน และนักล่า
สิ่งที่ไม่จำเป็นต้องมีในโคกหนองนาโมเดล
- สระน้ำ หากพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ ติดคลองชลประทาน การขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำก็ไม่จำเป็น เว้นแต่จะมีจุดประสงค์เพื่อใช้เลี้ยงสัตว์น้ำ สร้างรายได้
- สระน้ำที่คดเคี้ยวเป็นรูปร่างต่าง ๆ เป็นความเข้าใจผิด ๆ ในการรวมเอา สระ คลองไส้ไก่ และหลุมขนมครก เข้าด้วยกัน ทำให้ได้รูปร่างแปลก ๆ แต่ไม่เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่
- สระ+คลอง+หลุมขนมครก ที่ลึกแต่เก็บน้ำไม่อยู่ ขุดให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ แล้วยังมีทั่วทั้งแปลง แต่ดันเก็บน้ำไม่ได้ แล้วแบบนี้จะไปโทษใคร
- บ่อบาดาล อย่างที่บอก เมื่อมีแหล่งน้ำอื่น ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องมีแหล่งน้ำที่ต้องลงทุนสูง บางคนมีทั้งสระ มีทั้งบ่อบาดาล จะรวยไปไหน
- สปริงเกอร์ ท่อ PVC และระบบจัดการน้ำ เพื่อความชุ่มชื้นของแปลงเพาะปลูก สิ่งเหล่านี้ไม่ได้จำเป็น เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มเอาเสียเลย
เรื่องของสระน้ำ และบ่อบาดาล ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่หลายคนถกเถียงกันมาก เพราะในบางพื้นที่ เกษตรกรมักชอบอ้างว่า ไม่มีประปา (อาจรวมถึงไฟฟ้า) ห่างไกลความเจริญ จำเป็นต้องมีน้ำไว้ใช้ โดยเฉพาะการเจาะบ่อบาดาล ก็เพื่อนำน้ำมาใช้อุปโภค บริโภค นี่คือสิ่งจำเป็น
ผู้เขียนจึงเห็นว่า หากเลือกจะไปอยู่ในที่แร้นแค้น และแห้งแล้งอย่างนั้น หากทุนไม่สูงจริง ๆ คงอยู่ไม่รอดใน 5 ปี แต่ก็ฟันธงไม่ได้ว่า ทางเลือกไหนจะให้ผลดีสุดสำหรับเจ้าของพื้นที่ แต่หากให้ผู้เขียนเลือก ก็ขอเลือกพื้นที่ที่ น้ำประปา ไฟฟ้า เข้าถึงง่าย ๆ จะดีกว่า
ทดสอบ และทดลองในพื้นที่เล็ก ๆ ก่อนทำจริง
จากที่กล่าวมาข้างต้น เรื่องสิ่งที่ต้องมีในการออกแบบโคกหนองนาโมเดล ทั้งนี้ ไม่ได้รวมกล่าวถึง โคก และนา(ที่ลุ่ม) ซึ่งเข้าใจว่า การจะออกแบบนั้น จำเป็นต้องรู้ว่า จะต้องมีอะไรบ้าง ไม่จำเป็นต้องมีอะไรบ้าง
หากแนะนำไปว่า ในพื้นที่ต้องมี โคก หรือ นา(ที่ลุ่ม) ไม่งั้นจะไม่เป็นโคกหนองนา แล้วเกิดคำถามต่อ ว่าหากเขาอยู่ในที่สูงอยู่แล้ว หรือการปรับปรุงพื้นที่เดิม ที่เคยเป็นบ่อปลามาก่อน มิต้องเสียค่าใช้จ่ายกันบานเบอะเหรอ
ดังนั้น การออกแบบจึงต้องมีการยืดหยุ่น ไปตามสภาพแวดล้อมจริงที่เกิดขึ้น เพียงแต่ให้ได้ภาพรวมที่จะบอกว่า โคก คือส่วนที่อยู่อาศัย , หนอง คือที่เก็บน้ำ และนา คือที่เพาะปลูก
เมื่อได้แนวทาง และจุดประสงค์ของการออกแบบแล้ว ค่อยมาดูผัง หรือแปลนคร่าว ๆ โดนวาดเอาไว้ว่า ตำแหน่งใด ควรทำอะไร ให้ถูกต้องตามศาสตร์ดังนี้
- ไม่เกิดความเดือดร้อนทั้งตนเองและผู้อื่น
- จัดการง่าย ดูแลได้อย่างทั่วถึง
- เริ่มทำจากใกล้ ๆ ก่อนขยายออกไปไกล ๆ
- ไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมด หรือทำทั่วทั้งแปลง
- ใช้วัตถุดิบที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ในการจัดวางตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็น แปลงเกษตร ฟาร์ม สระเก็บน้ำ คลองไส้ไก่ รวมไปถึงตำแหน่งการปลูกพืชผลต่าง ๆ ล้วนแต่ต้องคำนึงถึงศาสตร์ 5 ข้อด้านบน
โดยเฉพาะในเรื่องของทิศทางของลม ซึ่งในประเทศไทย จะมีทิศทางลมดังนี้
- ฤดูร้อน (ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม) ลมจะพัดมาทางทิศใต้
- ฤดูฝน (ช่วงเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน) ลมจะพัดมาจากทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
- ฤดูหนาว (ช่วงธันวาคม-กุมภาพันธ์) ลมจะพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
ดังนั้น การวางแบบแปลน โดยเฉพาะ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะมีกลิ่นจากของเสีย ควรคำนึงถึงสภาพแวดล้อมของตัวเอง และเพื่อนบ้าน รวมไปถึงชุมชนด้วย ตำแหน่งในการวางที่ดีที่สุดคือ ให้ขนานไปกับที่อยู่อาศัย
หากเลี่ยงไม่ได้ ควรให้อยู่ในที่โล่ง และไม่ควรมีไม้ยืนต้นปกคลุม เพื่อให้แสงแดดได้ส่องถึง รวมถึงไม่ควรใกล้แหล่งน้ำที่ขาดการบำบัดจนเกินไป
แปลงเกษตร อะไรที่กินใช้บ่อย ๆ ควรอยู่ใกล้ที่อาศัย ไม้ผลที่ร่วงหล่น ไม้ดอก ไม้ประดับ ที่มีการร่วงหล่น ของดอก ผล ใบ เกิดการเน่าเหม็น ควรห่างจากที่พักอาศัย
ไผ่ พืชกอ หน่อ เหง้า ควรปลูกไว้ใกล้บ้าน เพราะจะง่ายในการดูแล เมื่อพบเห็นบ่อย ๆ ก็จะเกิดความขยันในการตัดแต่งและจัดการ พืชจำพวกนี้ ช่วยให้บ้านเย็น และใช้ประโยชน์ได้ไม่จำกัด
ไม่ใช่ปล่อยให้อยู่ท้ายสวนจนรกครึ้ม ไร้การดูแล ส่วนพืชที่ไม่ต้องดูแลมากนักเช่น มะพร้าว มะม่วง ขนุน หรือไม้ผลยืนต้น ให้เอาไว้ตามคันดิน และควรห่างจากแปลงเกษตรอื่น เพราะผลที่ร่วงหล่น อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อพืชชนิดอื่นได้
ทดลองทำในพื้นที่เล็ก ๆ ให้ได้ผล ก่อนขยายไปพื้นที่ใหญ่
แหล่งน้ำ ควรอยู่ใกล้ที่อาศัย เมื่อมีการขุดสระ หรือบ่อ จะมีดินเหลือมาทำโคก ไม่ควรเอาดินไปทำโคกไกลจากพื้นที่ขุดสระ ทั้งยังเสียเวลาแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์ ดินที่ขุดได้ก็ก่อโคกในบริเวณใกล้ ๆ นั้นเลย การติดตั้งปั๊มน้ำเพื่อดึงน้ำขึ้นมาเก็บในถัง หรือแท้งค์น้ำ ใกล้ ๆ ที่พัก หรือในบริเวณที่สามารถมองเห็นได้ ก็จะง่ายในการจัดการ
ทำร่องน้ำจากที่สูงนั้น ลาดลดหลั่นกันไปให้ทั่วแปลง หากกลัวว่าน้ำจะซึมลงดินเร็วไปก็อาจใช้หิน กรวด หรือผ้ายาง รองเป็นร่องเล็ก ๆ ไม่จำเป็นต้องใหญ่เป็นเมตร ๆ แบบที่เห็นทั่วไป
ร่องน้ำ คลองเล็ก ๆ ที่เรียกว่า คลองไส้ไก่นี้ ไม่ได้มีหน้าที่เก็บน้ำ แต่มีหน้าที่เป็นทางน้ำ ส่งน้ำไปยังพื้นที่ต่าง ๆ และช่วยทำให้น้ำ ระบายออกไปยังพื้นดินได้เร็วขึ้น ผิวดินบริเวณรอบ ๆ ก็ชุ่มน้ำ และเหมาะกับเป็นที่ปลูกผักที่ชอบน้ำหลาย ๆ ชนิด
ขุดคลองตื้น ๆ ผันน้ำให้วนเลี้ยวเคี้ยวคด จนสุดท้ายก็ไหลกลับมายังสระที่เพิ่งสูบน้ำขึ้นไป ทำอย่างนี้ก็ไม่เสียประโยชน์ ไม่เสียเวลา และไม่เปลืองงบประมาณในการติดตั้ง ระบบสปริงเกอร์ จนทั่วสวน
เมื่อได้ภาพ ได้ผัง ได้แบบแปลนแล้ว ก็ทดลองทำกับพื้นที่แปลงเล็ก ๆ อาจจะเริ่มจาก 1 งานก่อน โดยปรับสภาพไปตามสัดส่วนที่ได้ เมื่อจัดการแล้ว และสามารถให้ผลผลิตอยู่ได้มากกว่า 2-3 ปี หรือจนกว่าจะรู้สึกว่า ชำนาญแล้ว ก็ค่อยขยายไปยังพื้นที่ใหญ่ขึ้น
ความล้มเหลวของโครงการ โคกหนองนาโมเดล จากหลาย ๆ เหตุผลที่ทำให้ไปต่อไม่ได้
ปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ ให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่
เมื่อการทดลองจากแปลงเล็ก ๆ อาจจะเริ่มจาก 1 งาน หรือ 1 ไร่ ทำแล้วไหว ไม่ลำบาก และอยู่ได้ พืชผลให้ผลผลิตที่ดี ฟาร์มไม่ขาดแคลนวัตถุดิบในการใช้ทำอาหาร ลดค่าใช้จ่ายได้ ก็อาจพัฒนา ต่อยอด และขยายพื้นที่ออกไปมากขึ้น
การออกแบบและจัดทำ โคกหนองนาโมเดลนี้ ไม่จำเป็นต้องทำทีเดียวทั้งแปลง แต่ควรทำไปเรื่อย ๆ เพราะการจะออกแบบ และใช้ประโยชน์ ผู้ที่รู้ดีที่สุดคือ ผู้อยู่อาศัย ไม่ใช่ใครก็จะทำกันได้ง่าย ๆ ต้องเข้าใจหลักการ การจัดการที่ดี มีความสอดคล้องกับระบบการทำงานของผู้อยู่อาศัย หรือใช้ประโยชน์
อย่าเอาแค่สวยหรือเท่อย่างเดียว เพราะกินไม่ได้ สุดท้ายก็เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์
ความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ที่น่าสนใจ ล่าสุดในตอนนี้
เทคนิคและวิธีการ
บอนกระดาดด่าง วิธีเลือกต้นพันธุ์แท้
บอนกระดาดด่าง สายพันธุ์แท้ของ บอนกระดาด ที่คนนิยมสูงที่
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมเทคนิคและวิธีการ
ปลูกผักอินทรีย์ แก้จนได้จริงหรือ
ขึ้นชื่อว่าผักอินทรีย์หลายคนเข้าใจว่าปลอดภัยหายห่วง แต่
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมเทคนิคและวิธีการ
สนใจกาแฟเวียดนาม เชิญทางนี้
เมื่อนึกถึงแหล่งผลิตกาแฟ หลายคนอาจนึงถึงประเทศใหญ่อย่าง
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมบทความน่ารู้
น้ำปลาแท้ กับสารฮิสตามีน
น้ำปลาแท้ ดีกว่าอย่างไร? เริ่มต้นเรื่อง ก็ดูเหมือนว่า จ
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมการขยายพันธุ์พืช
การปักกิ่งชำในขวดให้พืชงอกเร็ว รอดตายสูง ทำอย่างไร
เทคนิคขยายพันธุ์พืชด้วยการปักชำกิ่งพืชในขวด เป็นวิธีแบบ
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมเกษตรในพื้นที่น้อย
ผักสวนครัวในกระสอบ ปลูกง่าย โตเร็ว ผลผลิตดี
ปลูกผักสวนครัวในกระสอบ แปลงผักในพื้นที่น้อย กับผักสวนคร
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติม
เทคนิค วิธีการ
พื้นที่น้อย
การทำปุ๋ย
ขยายพันธุ์พืช