ผักกาดขาว เป็นผักที่ปลูกกันมากในประเทศจีนตอนใต้ ไต้หวันและไทย
เนื่องจากเป็นผักที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง เพราะมีผู้นิยมบริโภคอย่างแพร่หลาย ใช้รับประทานเป็นผักสด หรือใช้ประกอบอาหารอื่นก็ได้ทุกครั้งที่ต้องการ หาง่าย และปลูกง่าย
การปลูกผักกาดขาว (Chinese Cabbage) หรือ ผักกาดขาวปลี นั้น สภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม สำหรับการปลูกจะดีที่สุดคือให้อยู่ในช่วงปลายฝนต้นฤดูหนาว
แม้ผักกาดขาวจะเป็นผักที่มีอายุเพียงแค่ปีเดียว แต่เกษตรกรก็สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี และปลูกได้ดีที่สุดในช่วงเดือน ตุลาคม-กุมภาพันธ์ (ดูเพิ่มเติมเรื่อง ปลูกพืชอะไรในฤดูต่างๆ)
ผักกาดขาวสามารถขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีความเป็นกรดด่าง (pH) ของดินอยู่ในช่วงพอเหมาะ ประมาณ 6.0-6.8 อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 25-20 องศาเซลเซียสจะทำให้ผักกาดเจริญเติบโตได้ดีมาก และผักสวนครัวชนิดนี้ยังต้องการแสงแดดตลอดทั้งวันอีกด้วย
สายพันธุ์ผักกาดขาวที่ปลูกในประเทศไทย
แบ่งตามลักษณะของ “ปลี” ได้เป็น 3 ประเภทคือ
- ผักกาดขาวพันธุ์ปลียาว มีลักษณะทรงสูง รูปไข่ ได้แก่ พันธุ์มิชิลีหรือผักกาดหางหงส์, ผักกาดโสภณ, ผักกาดขาวปลีฝรั่ง
- ผักกาดขาวพันธุ์ปลีกลม ลักษณะทรงสั้นกว่า อ้วนกลมกว่า เช่น พันธุ์ซาลาเดียไฮบริด, พันธุ์ทรงบิคคอล ไพรด์ ไอบริด ฯลฯ มักเป็นพันธุ์เบาอายุสั้น
- พันธุ์ปลีหลวม หรือไม่ห่อปลี ส่วนใหญ่เป็นผักพื้นเมืองของเอเซีย พวกนี้มักไม่ห่อปลี ปลูกได้แม้อากาศไม่หนาว และฝนตกชุก ได้แก่ พันธุ์ผักกาดขาวใหญ่ (อายุ 45 วัน) ผักกาดขาวธรรมดา (อายุ 40 วัน) ความอร่อยน่ากินและเก็บรักษาได้นานสู้ผักกาดขาวเข้าปลีไม่ได้ ทำให้ปริมาณการปลูกในปัจจุบันเริ่มลดลง
พันธุ์ผักกาดขาวปลียาว
พันธุ์ผักกาดขาวปลีกลม
พันธุ์ผักกาดขาวปลีหลวม
พันธุ์ผักกาดขาวที่เกษตรกรนิยมปลูก
สายพันธุ์ผักกาดขาวที่เกษตรกรนิยมปลูกกันนั้น หาเมล็ดพันธุ์ได้ตามท้องตลาดทั่วไป เพราะเป็นผักที่ปลูกง่าย โตเร็ว และปลูกได้ทั้งปีในทุกสภาพดิน จึงเป็นผักที่เหมาะอย่างยิ่งที่จะนำไปปลูกเป็นผักสวนครัวข้างริมรั้ว แม้แต่ในกระถาง ในตะกร้า หรือในขวด ก็สามารถปลูกได้ง่ายมาก พันธุ์ที่นิยมปลูกกันได้แก่
- ตราดอกโบตั๋น
- ตราช้าง
- ตราเครื่องบิน
- ตราเครื่องบินพิเศษ
- พันธุ์เทียนจิน
- พันธุ์เทียนจินเบอร์ 23 (เป็นพันธุ์ที่ทนร้อนปานกลาง)
การปลูกผักกาดขาว ไม่ว่าจะปลูกลงในแปลงหรือในกระถางเพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่จะมีข้อที่เกษตรกรผู้ปลูกควรพึงระวังเอาไว้ นั่นคือ..
- ช่วงการเจริญเติบโต ระวังธาตุโบรอน ซึ่งจะแสดงอาการกาบใบแตกเป็นรอยดำ และอาจทำไปสู่โรคเน่าเละเสียหายของพืช
- ระวังโรคใบจุด ที่เกิดจากเชื้อ Alternaria sp. ที่สามารถระบาดได้อย่างรวดเร็วและทำให้ใบเป็นจุดเล็กๆ
- ระวังการแทงช่อดอก ในช่วงอากาศเย็นโดยเฉพาะต้นกล้าที่ได้รับความเย็นจัดในเวลานาน เมื่อนำไปปลูกจะทำให้กล้าเกิดการแทงช่อดอกเร็วขึ้น แต่หัวไม่เข้าปลี
- ไม่ควรปลูกซ้ำที่เดิม เพราะแร่ธาตุในดินอาจไม่เพียงพอหากไม่มีการปรับปรุงดินก่อนการปลูกในรอบใหม่
- ในช่วงฤดูร้อน หากปลูกลงแปลง ควรให้น้ำโดยการปล่อยเข้าแปลงปลูก หากขาดน้ำพืชจะชะงักการเจริญเติบโต มีผลต่อการเข้าปลี
- การให้น้ำ ควรให้ทุก 2 วัน/ครั้ง หรือสังเกตุดูความแห้งของดินปลูก
ในส่วนของการปรับปรุงดินและการให้ปุ๋ย ที่เหมาะสมควรเป็นสูตร 15-15-15 กรณีทำเป็นแปลงปลูก ควรให้ปุ๋ยในอัตรา 30 กรัม/ตร.ม. หรือปุ๋ยสูตร 46-0-0 ในอัตรา 30 กรัม/ตร.ม. (ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ สูตรปุ๋ยและแร่ธาตุจำเป็นสำหรับพืช)
ส่วนการปลูกในพื้นที่จำกัด โดยเฉพาะในกระถาง ที่มีการจำกัดของปริมาณดินและพื้นที่ปลูกไม่กว้างเพียงพอ แนะนำให้ใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพที่ได้จากการหมักพืชสดเป็นส่วนประกอบหลักในเนื้อดิน เพื่อเน้นธาตุไนโตรเจน (ดูเรื่อง ธาตุไนโตรเจนสำคัญอย่างไรกับพืช)
ส่วนของโรคและแมลงศัตรูพืชของผักกาดขาวนั้น ในระยะของการเจริญเติบโตช่วงต่างๆ มักจะเจอไม่มากในกรณีที่ปลูกในจำนวนน้อย โดยทั่วไปแล้วส่วนใหญ่มักจะพบเจอในบริเวณที่มีปริมาณการปลูกหนาแน่นจำนวนมาก เนื่องจากการจัดการดินได้ไม่ทั่วถึง และศัตรูของผักกาดขาวนั้น บางชนิดมักจะเป็นศัตรูกับพืชไร่พืชสวนทั่วไป จึงไม่แปลกที่จะมีโรคศัตรูพืชอยู่มาก โดยจำแนกได้ดังนี้
- ระยะกล้า 18-21 วัน ช่วงนี้ไม่ค่อยมีโรคแมลงรบกวน
- ระยะย้ายปลูก-ตั้งตัว 21-28 วัน โรคราน้ำค้าง, โรคใบจุด, ด้วงหมัดผัก, หนอนกระทู้ดำ, หนอนใยผัก, หนอนคืบ, หนอนกระทู้
- ระยะเข้าหัว 28-55 วัน โรคราน้ำค้าง, โรคใบจุด, โรคเน่าเละ, หนอนใยผัก, หนอนคืบ, หนอนกระทู้
- ระยะโตเต็มที่ 55-56 วัน โรคราน้ำค้าง, โรคใบจุด, โรคเน่าเละ, หนอนใยผัก, หนอนคืบ, หนอนกระทู้
ผักกาดขาว VS กะหล่ำปลี ความต่างที่เหมือนกัน
โดยเฉพาะผักกาดขาวพันธุ์ปลีกลม มักจะมีหลายคนเข้าใจผิด ข้อสังเกตุคือ ผักกาดขาวใบจะหยักกว่ากะหล่ำปลีไม่ว่าจะใบนอกหรือใบในจะหยักมากตรงปลายใบ แต่กะหล่ำปลีไม่หยักและมีส่วนก้านใบที่หนากว่า
ผักกาดขาวพันธุ์ปลีกลม ลักษณะจะกลมและคล้ายคลึงกันกับกะหล่ำปลีมาก คนส่วนใหญ่แยกไม่ออกหากมองจากภาพ ถ้านำผักสองชนิดนี้มาเทียบกัน รู้เลยว่าหลายคนน่าจะเข้าใจผิด
ผักกาดขาวปลีกลม
กะหล่ำปลี
ปลูกผักกาดขาว อายุการเก็บเกี่ยวเร็ว
ไม่ว่าจะปลูกผักกาดขาวในกระถาง หรือปลูกในตะกร้า ในขวด หรือลงแปลงปลูกกันเป็นไร่ๆ ก็จะมีอายุการเก็บเกี่ยวไม่ต่างกันมาก โดยพันธุ์ที่เข้าปลีไม่แน่น ส่วนใหญ่จะมีอายุเก็บเกี่ยวที่ประมาณ 40-50 วัน หลังจากการหว่านเมล็ด (วัดจากการเก็บเกี่ยวต้นที่เริ่มแก่ได้ขนาด) ส่วนพันธุ์ที่เข้าปลียาว หรือปลีกลมแน่น จะมีอายุการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ประมาณ 50-80 วัน หลังจากการหยอดเมล็ด โดยเก็บขณะปลีห่อแน่นเต็มที่ก่อนที่ปลีจะเริ่มคลายตัวออก
การตัดโดยใช้มีดคมตัดลงที่โคนต้นได้เลย โดยการปอกใบนอกออกให้เหลือปลีที่ต้องการ ในการตัดจำหน่ายควรเหลือใบนอกไว้สัก 2-3 ใบ เพื่อป้องกันการกระแทกในระหว่างการขนส่ง ก็เป็นเทคนิคอีกอย่างที่ทำให้ปลีผักกาดยังได้คุณภาพเหมือนเดิม ทีนี้เมื่อรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับการปลูกผักกาดขาวกันแล้ว ก็ลงมือเริ่มปลูกกันเลยดีกว่า
วิธีการปลูกผักกาดขาว ให้ได้ผลผลิตดี
เริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน เพื่อให้ได้ผักกาดขาวที่มีคุณภาพและให้ผลผลิตที่ดีควรใช้น้ำส้มควันไม้ที่ผสมน้ำแล้ว (น้ำส้มควันไม้ 1 ส่วนต่อน้ำสะอาด 100 ส่วน) นำมาฉีดพ่นในดินที่ผสมกับปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักแล้ว ผสมให้เข้ากันแล้วตากดินทิ้งไว้ 1 วัน หากผสมน้ำส้มควันไม้มากกว่าปริมาณที่กำหนดให้ตากดินทิ้งไว้หนึ่งเท่าตัว ส่วนในแปลงนา หรือแปลงเพาะกล้า ควรไถดินและตากไว้ประมาณ 5-7 วัน
ในระหว่างนี้ฉีดพ่นด้วยน้ำส้มควันไม้ผสมน้ำตามอัตราส่วนข้างต้นเพื่อฆ่าเชื้อโรคให้ดินสะอาดพร้อมปลูก หลังจากนั้นก็คลุกเคล้าด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วให้มากพอที่จะทำให้เนื้อดินร่วนซุยได้ที่ โดยเฉพาะผิวหน้าดิน ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดผักกาดขาวซึ่งมีขนาดเล็ก ตกในดินลึกเกินไปเมื่อปลูกโดยใช้วิธีการหว่าน
ดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกผักกาดขาวให้เจริญเติบโตได้เต็มที่ ให้ผลผลิตได้คุณภาพ ต้องเป็นดินที่มีแร่ธาตุสูง ร่วนซุย และระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ขัง หากดินระบายน้ำได้เร็ว และแห้งเกินไปแก้ไขโดยการใช้ฟางหรือวัสดุปิดทับหน้าดินเพื่อกักเก็บความชื้น
ถ้าเป็นดินเปรียวหรือดินเค็ม แนะนำให้ใส่ปูนขาวแก้ได้ ถ้าเป็นดินทราย แนะนำให้ใส่ปุ๋ยคอกที่หมักเป็นปุ๋ยแล้วให้มากๆ ไม่แนะนำให้ใส่มูลสัตว์ลงไปโดยตรงเนื่องจากอาจทำให้ผักกาดขาวเป็นโรคได้
วิธีการปลูกผักกาดขาวนั้น ส่วนใหญ่เกษตรกรจะปลูกกันด้วย 2 วิธีนี้ โดยเลือกให้เหมาะกับความสะดวกและเหมาะสม คือ
ปลูกผักกาดขาวแบบหว่านโดยตรง
ปลูกโดยการหว่านเมล็ดพันธุ์ให้กระจายไปทั่วทั้งแปลง การปลูกวิธีนี้เหมาะสำหรับเมล็ดพันธุ์ที่มีราคาไม่แพงมาก และเหมาะกับการปลูกในพื้นที่กว้าง ไม่เสียเวลาปลูก โดยเฉพาะในท้องที่ภาคกลาง ที่ยกแปลงและมีร่องน้ำเรียบร้อยแล้ว การหว่านก็สะดวกมาก
เทคนิคในการปลูกวิธีนี้คือ ให้ผสมทรายลงไปกับเมล็ดผักก่อนการหว่าน ทรายจะทำให้เมล็ดผักกาดขาวไม่กระจุกตัวและกระจายไปเต็มพื้นที่ปลูกได้อย่างสม่ำเสมอ และใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพที่หมักจากพืชสด หว่านทับลงไป ให้หนาประมาณ 0.5-1.0 ซม. ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยในเรื่องของการรักษาความชื้นให้กับหน้าดินด้วย เมื่อทำเสร็จแล้ว ให้คลุมฟางแห้งสะอาดอีกชั้นหนึ่ง จบด้วยการรดน้ำให้ทั่วแปลง
ภายหลังจากที่ต้นกล้างอกจนได้ใบจริง 1-2 ใบ ให้เริ่มถอนแยกเพื่อจัดระยะปลูกให้ได้ตามกำหนด แนะนำให้ระหว่างต้นห่างกันประมาณ 30-50 เซนติเมตร
ปลูกผักกาดขาวแบบหยอดเมล็ดลงหลุม
วิธีนี้เหมาะที่จะปลูกทั้งในกระถาง หรือในภาชนะที่ต้องการ สำหรับพื้นที่ที่มีจำกัด โดยการหยอดเมล็ดลงในหลุม หากมีพื้นที่เพียงพอที่จะทำเป็นแปลงปลูกก็สามารถปลูกเป็นแถวได้ โดยให้ระยะระหว่างต้นและแถวห่างกัน 20-50 ซม. ขึ้นอยู่กับความต้องการ โดยหยอดลงในรู ลึกประมาณ 0.5-10.0 ซม. หรือทำเป็นหลุมตื้นๆ หยอดเมล็ดลงไปประมาณ 3-5 เมล็ดในแต่ละกระถางก็ได้ แล้วกลบดินหนา 0.5 ซม.
เมื่อต้นกล้าเริ่มมีใบจริง 2 ใบให้ทำการถอนแยกให้เหลือหลุมละ 1 ต้น สามารถปล่อยให้โตก่อนถอนแยกได้ แต่ไม่ควรเกิน 30 วันในการถอนแยก ไม่เช่นนั้นจะทำให้รากของต้นดีเสียหายได้
การย้ายกล้าปลูกควรย้ายในช่วงแดดร่ม จนถึงช่วงที่อากาศมืดครึ้มแล้ว และควรย้ายกล้าปลูกเมื่อผักกาดขาวมีอายุ 30-35 วันไปแล้ว การย้ายต้นผักกาดขาวที่มีอายุน้อยกว่า 30 วันจะทำให้ระบบการเติบโตช้าลง การดูแล แนะนำให้ปุ๋ยสูตรเสมอ หรือสูตรเร่งใบ เพื่อให้ผักกาดขาวเข้าปลีได้สวย และเนื่องจากผักกาดขาวเป็นพืชผักที่ต้องการน้ำมาก การให้น้ำควรทำอย่างสม่ำเสมอ
เพียงไม่นาน ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ปลูก ประมาณ 50-80 วันก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตผักกาดขาวได้แล้ว แต่หากไม่เก็บเกี่ยว ก็สามารถรอให้ต้นผักกาดขาวติดดอกและให้เมล็ดเพื่อขยายพันธุ์ต่อไปได้ต่อเนื่องยาวนานถึง 1 ปีจนกระทั่งหมดสิ้นอายุขัย
หากใครสนใจ วิธีการปลูกผักกาดขาวไร้ดิน อีกวิธีหนึ่งก็สอบถามกันเข้ามานะ จะได้เขียนเพิ่มเติมให้
เพิ่มเติมเรื่อง : โรคของผักกาดขาวที่เป็นกันบ่อย และวิธีแก้ไข
โรคยอดฮิตของผักกาดขาว รวมถึงสาเหตุ และวิธีแก้ไข
- โรคเน่าคอดิน (Damping off)
เกิดจากเชื้อรา Pythium SP ส่วนใหญ่เกิดเฉพาะในแปลงกล้าเท่านั้น เพราะการหว่านที่แน่นเกินไป การแก้ไขคือการถอนกล้าให้โล่ง หรือใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อราละลายน้ำในอัตราความเข้มข้นน้อย ราดไปบนผิวดินให้ทั่ว - โรคเน่าเละ (Soft rot)
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เป็นจุดฉ่ำน้ำ และจะเน่าอย่างรวดเร็วภายในเวลา 2-3 วัน อาการเน่าจะเกิดส่วนใดก่อนก็ได้ แก้ไขโดยใช้ปุ๋ยที่มีธาตุโบรอน หรือใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น พวกสเตร์ปโตมัยซิน อากริไมซิน ฉีดพ่น - โรคใบจุด
เกิดจากเชื้อรา Altennaria SP. อาการคือเป็นจุดกลมสีน้ำตาล แผลเป็นวงซ้อนกัน แก้ไขได้โดย ใช้สารเคมรอฟรัล สลับกับแอนทราโคลตามฉลากข้างภาชนะบรรจุฉีดพ่น ถ้าเป็นมากต้องทำลายยกแปลง -
โรคใบด่าง
เกิดจากเชื้อไวรัส Turnip mosaic Virus อาการคือใบด่างเขียว สลับเขียวเหลือง แคระแกรน ป้องกันโดยการใช้เมล็ดที่ปราศจากโรค หากเป็นมากต้องเผาทำลายทั้งหมด -
โรคราน้ำค้าง
เกิดจากเชื้อรา Peroros Pora SP. มีอาการด้านบนใบเป็นรอยด่างสีเหลืองซีด หรือใบไหม้ การแก้ไขคือเมื่อเริ่มพบอาการ ให้ใช้สารเคมี ไดเมทเอ็ม หรือ อาโคนิล ฉีดพ่น หากมีการระบาดรุนแรงให้ใช้เอพรอน 35 ฉีดพ่น 1 ครั้ง
ความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ที่น่าสนใจ ล่าสุดในตอนนี้
เทคนิคและวิธีการ
ยุคนี้ ปลูกผักสวนครัวแบบเศรษฐกิจพอเพียง ทำอย่างไร
การปลูกผักกินเองตามมีตามเกิด กับการปลูกผักสวนครัวรั้วกิ
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมเกษตรในพื้นที่น้อย
ปลูกมะละกอ 1 ไร่อย่างไรให้ได้เดือนละแสน
เชื่อหรือไม่ว่า ปลูกมะละกอ 1 ไร่ สร้างรายได้เดือนละแสน
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมการขยายพันธุ์พืช
ปักชำมะนาวจากยอดได้ยังไง การขยายพันธุ์มะนาวด้วยยอด
แนะวิธีการปักชำมะนาววิธีใหม่ที่นิยมกัน สามารถทำในขวด หร
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมการขยายพันธุ์พืช
ขยายพันธุ์ไผ่ด้วยวิธีตอนกิ่ง แนะนำการทำ
ขยายพันธุ์ไผ่ ด้วยการตอนกิ่ง ได้นะ วิธีการทำไม่ยากเลย แ
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมเกษตรในพื้นที่น้อย
จัดสวนสมุนไพรไว้หน้าบ้าน ดีหลายอย่าง
สวนสมุนไพร ใครว่าไม่เหมาะเอาไว้หน้าบ้าน มาดูไอเดียดี ๆ
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมปรับปรุงดิน การทำปุ๋ย
อาการของต้นพืชแบบไหนที่แปลว่าขาดสารอาหาร
ถ้าคุณอยากปลูกพืชผัก ผลไม้ หรือพืชพันธุ์ต่างๆ ให้งอกงาม
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติม
เทคนิค วิธีการ
พื้นที่น้อย
การทำปุ๋ย
ขยายพันธุ์พืช