หากเรามีพื้นที่น้อย และอยากขุดบ่อเลี้ยงปลา จะทำอย่างไรให้คุ้มทุนที่สุด วันนี้มีคำตอบสำหรับคนอยากเลี้ยงปลาเพื่อเป็นอาหารและสร้างอาชีพ
ก่อนอื่น ต้องวางแผนขุดบ่อเลี้ยงปลาในพื้นที่น้อยก่อน หากมีพื้นที่ไม่ถึง 1 ไร่ เช่น มีพื้นที่เพียง 2 งาน อยากขุดสระเก็บน้ำด้วย และเลี้ยงปลาด้วย ต้องคำนึงถึงอะไร และต้องมีการดำเนินการอย่างไรถึงจะถูกต้อง และไม่เดือดร้อนในอนาคต เพราะการขุดบ่อเลี้ยงปลา กับการขุดสระเก็บน้ำ มีวัตถุประสงค์ต่างกัน
บางคนบอก พื้นที่น้อยไม่ควรขุดสระหรือบ่อเลี้ยงปลา เพราะไม่คุ้ม
ที่ว่าไม่คุ้มคือเทียบกับอะไรกันแน่ หากเทียบกับโคกหนองนาโมเดล โดยเอาพื้นที่ไปขุดบ่อซะ 80% ที่เหลือคือไว้ทำแปลงเกษตรกับที่พักอาศัยอย่างนั้นหรือที่คุ้มค่า…
อยากเลี้ยงปลาและมีน้ำไว้ใช้ ก็ต้องขุดบ่อเลี้ยงปลาจริงดิ?
หากอยากเลี้ยงปลา ต้องพิจารณาก่อนว่าต้องการขุดบ่อจริงหรือไม่ เพราะการเลี้ยงปลามีหลายวิธี ที่ไม่จำเป็นต้องขุดบ่อเสมอไปก็สามารถเลี้ยงปลาได้ และปลาสำหรับบริโภคและจำหน่ายหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น ปลาดุก ตะเพียน นิล ยี่สก ทับทิบ หรือปลาช่อน สามารถใช้พื้นที่ไม่มากในการเลี้ยงได้ ไม่จำเป็นต้องขุดบ่อให้เปลืองงบประมาณ แต่หากต้องการขุดบ่อเพราะจุดประสงค์คือ ต้องการเก็บน้ำไว้ใช้ในยามแล้งด้วย ก็ควรเลือกสายพันธุ์ปลาให้เหมาะกับบ่อที่ขุด
นั่นก็เพราะว่า ปลาบางสายพันธุ์ทำให้น้ำเน่าเสียง่าย เช่นปลาดุก หากเลี้ยงในบ่อที่ไม่มีการถ่ายเทน้ำ หรือการระบายน้ำได้ดี ก็จะทำให้ของเสียที่เกิดจากปลามีการหมักหมม อีกทั้งปลาชนิดนี้ และอีกหลายชนิด ที่มีนิสัยชอบคุ้ยดินก้นบ่อ จะทำให้น้ำขุ่นและเน่าเสียได้ง่าย การขุดบ่อจึงเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ใช่ว่าใครจะมีเงินก็ทำได้ง่ายๆ
ความลึกของบ่อเลี้ยงปลา ต้องสัมพันธ์กับความกว้างของบ่อ
อีกทั้งความลึกของบ่อก็มีส่วนทำให้บริเวณขอบบ่อถูกบังคับให้ขยายกว้างออกไป เช่น บ่อจะต้องมีชานพักบ่อ หรือสโลบ เพื่อป้องกันการพังทลายของดินในบ่อ ชานพักบ่อหรือสโลปสำคัญกับบ่อเลี้ยงปลา หากขุดแล้วใช้พลาสติกปูบ่อ หรือผ้ายางปูบ่อ เพื่อรองก้นบ่อสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ ก็จะต้องมั่นใจว่า สามารถจัดการเรื่องการถ่ายเทความสกปรกของน้ำออกไปได้ เพราะบ่อแบบปิดนั้น จำเป็นต้องมีการถ่ายเทน้ำอย่างน้อย 20% ในทุกเดือนหรือ 3 เดือน หรือต้องมั่นใจได้ว่า สิ่งสกปรกก้นบ่อจะไม่เกิดการหมักหมมจนทำให้ต้องรื้อบ่อกันใหม่ในอนาคต สิ่งเหล่านี้หากจัดการได้ไม่ดีนัก ก็จะต้องใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องไม่จบสิ้น
จะดีกว่าไหมถ้าขุดบ่อเลี้ยงปลาในครั้งเดียวแล้วให้ระบบมันทำงานของมันได้เองโดยที่เราแค่ใช้เวลาเลี้ยงปลา จับปลา เฉยๆ
การขุดบ่อเลี้ยงปลา ควรมีความลึกเท่าไหร่ถึงจะดี
โดยปกติแล้ว ถ้าไม่ใช่การเลี้ยงปลาใหญ่ในแม่น้ำ ไม่จำเป็นต้องขุดลึกเกิน 2 เมตร บ่อเลี้ยงปลามีความลึกเพียง 0.5 เมตรก็เลี้ยงปลาได้ และปลาก็สามารถเติบโตได้ดีด้วย แต่หากจะเลี้ยงปลาบึก ปลาสวาย อาจต้องมีการขุดลึกถึง 5 เมตร แต่หากเลี้ยงปลาพื้นถิ่นทั่วไป ปลาดุก ปลาช่อน ปลาหมอ ปลานิล ปลายี่สก ปลาทับทิบ ความลึกบ่อแค่ 2 เมตรก็เพียงพอแล้วที่จะทำการขุด สิ่งสำคัญของการเลี้ยงปลาก็คือ ภายในบ่อปลาจะต้องมีพื้นที่ทั้งตื้น และลึก
ข้อดีของการมีพื้นที่ตื้นลึกไม่เท่ากันในบ่อปลานั้นมีมากมาย ตามหลักแล้วควรมีพื้นที่ตื้นๆ เพื่อใช้อนุบาลลูกปลาที่เกิดใหม่ เป็นแหล่งอาศัยของปลาเล็ก หรือสัตว์น้ำเล็กๆ และเป็นพื้นที่แหล่งอาหารสำหรับสัตว์น้ำขนาดเล็กด้วย เราอาจใช้บริเวณขอบบ่อหรือชานพักบ่อ รวมไปถึงการทำให้แสงแดดสามารถส่องลงไปถึงบริเวณดังกล่าวได้ถึงผิวดิน ก็จะทำให้ระบบนิเวศน์ของบ่อปลาเกิดขึ้น พืชน้ำสามารถเติบโตได้และยังเป็นแหล่งอาหารชั้นดีแก่ลูกปลาและสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงปลาอีกด้วย ส่วนพื้นที่ลึกสุด เป็นแหล่งเก็บน้ำและกักเก็บของเสีย หากไม่มีปลาไปกวน ของเสียก็จะไม่ลอยฟุ้งไปทั่วบ่อทำให้การจัดการง่ายขึ้น
การขุดบ่อลึก 2-3 เมตร ต้องคำนึงถึงอะไร
- หากเป็นพื้นที่น้ำท่วมถึง ควรทำขอบบ่อให้สูง และไม่ควรใช้พลาสติกปูบ่อ หรือผ้ายางปูบ่อเพื่อเก็บน้ำ เพราะเวลาน้ำท่วมจะทำให้เกิดความเสียหายและยุ่งยากในการจัดการบ่อเลี้ยงปลาให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม
- หากเป็นพื้นที่แห้งแล้ง อาจเลือกใช้การปูพลาสติกปูบ่อ หรือผ้ายางปูบ่อ เพื่อการกักเก็บน้ำ แต่ต้องมั่นใจว่ามีการถ่ายเทน้ำภายในบ่อเลี้ยงปลาได้อย่างน้อย 20% ในแต่ละเดือนหรือทุก 3 เดือน ไม่เช่นนั้น สิ่งสกปรกจะหมักหมมที่ก้นบ่อ และทำให้น้ำเสีย เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
- ชานพักบ่อ ในระดับความลึก 2 เมตรสามารถทำสโลปโดยไม่ต้องมีชานพักบ่อได้ แต่หากต้องการชานพักบ่อ สามารถใช้ความลึกที่ 0.5 เมตรได้ ชานพักบ่อมีข้อดีกับบ่อทุกขนาด เพราะทำให้บ่อไม่พังทลาย แถมยังเป็นที่อนุบาลลูกปลาและสัตว์เล็กๆ แล้วยังทำให้แสงแดดส่องถึงหน้าดิน เกิดระบบนิเวศน์ขึ้น ทำให้พืชน้ำเติบโตและเป็นแหล่งอาศัย แหล่งอาหารของสัตว์น้ำได้อีกด้วย
ข้อแนะนำในการขุดบ่อเลี้ยงปลา
ข้อแนะนำสำหรับใครที่มีพื้นที่น้อย และอยากขุดบ่อเลี้ยงปลา ทำอย่างไรให้คุ้มและง่ายต่อการจัดการ วิธีที่เรา(ทำเกษตรอินทรีย์แบบพอเพียง)จะบอกก็คือ…
- การขุดบ่อลึกเพียง 2-3 เมตร แนะนำให้ขุดหลุมขนมครกไว้อย่างน้อย 1-2 หลุม อาจใช้พื้นที่ 1 ตารางเมตรก็ได้ ในจุดก้นบ่อหรือจุดใดจุดหนึ่ง เพื่อเวลาน้ำลดลงมากๆ สัตว์น้ำจะได้มีที่อาศัยในบริเวณดังกล่าว และเป็นพื้นที่สำหรับกักเก็บของเสียในบ่อให้มารวมกันเพื่อการจัดการที่ง่ายขึ้น
- ภายในบ่อเลี้ยงปลา ควรมีบริเวณที่มีความลึกและตื้น พื้นที่ไม่ลึกมากนั้นมีไว้สำหรับสัตว์เล็กๆ อาศัยพักพิง และบริเวณพื้นที่ที่มีความลึกน้อยนี้ คือสำคัญที่สุด เนื่องจากในบริเวณนี้จะได้รับทั้งแดดและลม ทำให้กระแสน้ำได้รับออกซิเจนมากที่สุด เป็นแหล่งเติมออกซิเจนให้กับน้ำทั้งบ่อโดยไม่ต้องเปลืองแรงงาน
สิ่งที่สังเกตุได้ หากบ่อเลี้ยงปลาบ่อไหนมีพื้นที่ตื้นๆ มาก หรือมีริมตลิ่งที่กว้างมาก บ่อเลี้ยงปลานั้นจะเกิดน้ำเน่าเสียได้ยาก รวมไปถึงปลาและสัตว์น้ำต่างๆ ก็จะขยายพันธุ์ได้เร็วมากขึ้นด้วย โดยที่แทบไม่ต้องลงทุนถ่ายน้ำหรือเติมออกซิเจนให้ปลาในบ่อบ่อยๆ เลย
การเลี้ยงปลากับความลึก 2 เมตรก็เพียงพอต่อการจัดการ แต่บางคนมีพื้นที่มากก็ขุดลึกกว่า 2 เมตร แต่ต้องมั่นใจด้วยว่ามีพื้นที่มากพอ เพราะการขุดลึกเกินกว่า 2 เมตรมีจุดประสงค์เพียงอย่างเดียวนั่นคือ การเก็บน้ำไว้ใช้ แต่หากกลัวว่าน้ำจะเหลือไม่เพียงพอให้ปลาอาศัย แต่เพราะพื้นที่มีน้อย แนะนำให้เปลี่ยนจากการขุดบ่อเป็นการเลี้ยงปลาในบ่อปูนแทน หรืออาจใช้พลาสติกปูบ่อ หรือผ้ายางปูบ่อ เพื่อช่วยการกักเก็บน้ำ แต่ควรคำนึงถึงพื้นที่ด้วยตามข้อมูลที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำท่วม และการจัดการเรื่องของเสียก้นบ่อ
การใช้พลาสติกปูบ่อ หรือผ้ายางปูบ่อ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร
หากต้องใช้พลาสติกปูบ่อ หรือผ้ายางปูบ่อ เพื่อกักเก็บน้ำ ก็ต้องมั่นใจว่าพื้นที่ดังกล่าวนั้นน้ำไม่ท่วม และเป็นพื้นที่แห้งแล้งจริงๆ เพราะหากมีน้ำท่วมอาจมีความเสียหายเกิดขึ้นกับบ่อ อีกทั้งการใช้พลาสติกปูบ่อ หรือผ้ายางปูบ่อ จะทำให้ก้นบ่อเกิดการหมักหมมของสิ่งปฏิกูลจากสัตว์น้ำและดินโคลนที่ทับถมกัน อาจทำให้น้ำเน่าเสียได้ง่าย และเป็นแหล่งของเชื้อโรคและความสกปรก หากไม่มีการถ่ายเทและจัดการน้ำที่ดีพอ ในอนาคต ความเสียหายก็จะเกิดขึ้นกับน้ำภายในบ่ออย่างแน่นอน
ข้อดีของการใช้พลาสติกปูบ่อ หรือผ้ายางปูบ่อ
- กักเก็บน้ำได้ดี
- เหมาะกับพื้นที่แห้งแล้ง
- ไม่ต้องใช้ความลึกของบ่อมากก็สามารถเก็บน้ำได้
- สะดวกต่อการควบคุมปริมาณน้ำ
- พื้นที่น้อย ใช้พลาสติกปูบ่อ หรือผ้ายางปูบ่อผืนเดียว
ข้อเสียของการใช้พลาสติกปูบ่อ หรือผ้ายางปูบ่อ
- น้ำไม่มีการถ่ายเทตามธรรมชาติ
- ของเสียสะสมที่ก้นบ่อ
- มีต้นทุนในการถ่ายเทน้ำจากบ่อ
- หากน้ำท่วมจะเกิดความเสียหาย
- วัสดุบางชนิดมีราคาแพง
การป้องกันไม่ให้น้ำเน่าเสียได้ง่ายๆ หากต้องใช้พลาสติกปูบ่อ หรือผ้ายางปูบ่อ แนะนำคือ ควรต้องทำชานพักบ่อกว้างอย่างน้อย 0.5 เมตร ในทุกๆ ความลึก 1-2 เมตร หรือจำเป็นต้องมีริ่มตลิ่ง หรือขอบสระที่กว้างอย่างน้อย 1 เมตรต่อความลึก 2 เมตร
เพราะฉะนั้น การขุดบ่อเลี้ยงปลาลึกเพียง 2 เมตร อาจทำปากบ่อให้สโลปเอียงได้มากสุด 15องศาต่อตารางเมตร แต่หากลึกกว่านี้จะต้องทำที่พักบ่อกว้าง 0.5-1 เมตร ในทุก 2 เมตร การทำที่พักบ่อจะสัมพันธ์กับความลึกของบ่อ เมื่อบ่อลึก ก็ทำให้บริเวณขอบต้องขยายกว้างออกไปด้วย และหากมีพื้นที่น้อย การขุดลึกมากเกินไปอาจไม่เหมาะสม และเราอาจได้บ่อเลี้ยงปลาที่มีจุดลึกสุดแค่ตารางเมตรเดียว ซึ่งถือว่าไม่คุ้มในการลงทุน
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีข้อดีคือ มีจุดที่สามารถกักเก็บน้ำได้โดยที่ปลาได้อาศัยด้วย แต่ข้อเสียคือ ต้องขยายพื้นที่ให้กว้างขึ้นเพื่อทำชานพักของบ่อให้สมดุล เพราะการไม่ทำชานพักบ่อจะทำให้บ่อพังทลายลงในเวลาอันรวดเร็ว และน้ำจะเน่าเสียง่ายขึ้นด้วย
เลี้ยงปลาอะไรโตเร็วไวที่สุด
- ปลานิล เป็นปลาที่มีการเจริญเติบโตเร็ว ขนาดเฉลี่ย 500 กรัม ในเวลา 1 ปี สามารถให้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 5 กิโลกรัม เป็นปลากินพืช 3 เดือนก็จับขายได้
- ปลาดุก เป็นปลากินเศษพืชผักและซากสัตว์ ลูกปลาอายุ 5 วัน เมื่อถุงไข่แดงยุบ และเลี้ยงในบ่อดิน ใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือนถึงสามารถจับขายได้
- ปลาช่อน อยู่ระดับน้ำลึก 1-2 เมตร แต่แม่ปลาจะอยู่เลี้ยงลูกปลาที่ระดับน้ำตื้น 1 เมตร ปลาจะโตได้ขนาดที่ตลาดต้องการต้องใช้เวลา 7-8 เดือน
- ปลาสลิด เป็นปลาที่เหมาะกับพื้นที่ตื้นและหญ้าขึ้นรก ปลาจะโตได้ขนาดต้องการภายในเวลา 9-10 เดือน
- ปลาแรด เมื่ออายุ 10 วันจะมีความยาว 1 ซม. ปลาแรดกินแพลงก์ตอนสัตว์ที่เกิดตามธรรมชาติจากซากพืชซากสัตว์ย่อยสลายและโดนแสงแดด วางไข่ใต้น้ำลึก 30 ซม.บนเศษใบไม้เศษหญ้า ปลาแรดโตช้า ใช้เวลาเลี้ยง 2-3 ปีถึงจะได้ตามขนาดที่ต้องการของตลาด
ความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ที่น่าสนใจ ล่าสุดในตอนนี้
ข่าวสารด้านเกษตร บทความน่ารู้
รับจำนำข้าว กาลอวสานของข้าวไทย
ในความดึงดื้อถือดี กลัวว่าจะเป็นการเดินตามนโยบาย(ที่ดี)
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมเทคนิคและวิธีการ
วิธีการปลูกบวบเหลี่ยม ไว้กินเอง
ปลูกบวบเหลี่ยม ไม่ยาก มีเพื่อน ๆ สมาชิกหลายท่านสนใจการป
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมเกษตรในพื้นที่น้อย
เพาะเมล็ดมะกรูด เพื่อปลูกลงในกระถาง
เพาะเมล็ดมะกรูด บอกตามตรง ผมกำลังหลงไหลการ เพาะเมล็ดพืช
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมเทคนิคและวิธีการ
ปลูกมะยงชิดต้นเดียว รวยได้จริงไหม ถ้ามีลูกปีละหน
มะยงชิด เป็นผลไม้ที่ปลูกแล้วได้กิน ปีละหน แม้จะนานไปหน่
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมบทความน่ารู้
เปลือกลำไย ใช้ไล่ยุงและแมลงรบกวนได้ดี
รู้หรือไม่ เปลือกลำไยไล่แมลง และใช้ไล่ยุง ได้ ในสมัยก่อ
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมข่าวสารด้านเกษตร โค้ดส่วนลด Shopee ล่าสุด
เก็บโค้ดส่งฟรี เดือนเมษายน 66
รีบเลยก่อนหมด ถึงสิ้นเดือน เมษายน 2566 นี้เท่านั้น เก็บ
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติม
เทคนิค วิธีการ
พื้นที่น้อย
การทำปุ๋ย
ขยายพันธุ์พืช