ผักปลอดภัย กับ GAP หรือ Good Agricultural Practice หมายถึงอะไรและเกี่ยวข้องกันอย่างไรกับการทำเกษตรอินทรีย์
รวมไปถึงมีความสำคัญอย่างไรบ้าง วันนี้ kasetorganic.com จะมาไขข้อข้องใจกับเรื่องนี้กัน

GAP : Good Agricultural Practice หมายถึง ระบบการผลิตที่ถูกต้องในฟาร์ม โดยพิจารณาตั้งแต่พื้นที่การเพาะปลูก ตลอดถึงขั้นตอนการดูแลรักษา จนกระทั่งถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว และการจัดการหลังเก็บเกี่ยว
เรียกว่า ตั้งแต่เพาะปลูกไปจนกระทั่งสินค้าไปถึงมือผู้บริโภค จะผ่านการจัดการที่เรียกกันว่า GAP : Good Agricultural Practice เพื่อจัดการกับขั้นตอนต่างๆ ให้ผู้บริโภคได้มั่นใจในสินค้าเกษตร
ทำไมการทำเกษตร จำเป็นต้องมีมาตรฐาน GAP
ผักผลไม้สดที่วางขายตามท้องตลาด ส่วนใหญ่ต้องดูสวย ไม่มีร่องรอยของการถูทำลายโดยโรคและแมลงศัตรูพืช แต่ความสวยงามนั้นไม่ได้บ่งบอกถึงความปลอดภัยทางอาหารอย่างแท้จริง ในทางกลับกันอาจมีสารปนเปื้อนจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารของคน
จากคำถาม ทำไมการทำเกษตร จำเป็นต้องมีมาตรฐาน GAP นั่นก็เพื่อ…
เพื่อให้ได้ผลผลิตการเกษตรที่มีคุณภาพ มีลักษณะตรงตามความต้องการที่เป็นมาตรฐาน และมีความปลอดภัยต่อการบริโภคเป็นหลัก
ดังนั้นขั้นตอนและวิธีการจัดการให้ผลผลิตปลอดภัยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในระบบความปลอดภัยของอาหาร ตั้งแต่แปลงปลูกจนถึงโต๊ะอาหาร (From Farm to Table) เทคโนโลยีที่ช่วยลดการปนเปื้อนดังกล่าวจึงได้ถูกคิดค้นขึ้น
ตัวอย่างเช่น คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน คิดค้นการใช้สารชีวภัณฑ์จากธรรมชาติทดแทนสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช การลดการปนเปื้อนจุลินทรีย์ในผลผลิตระหว่างกระบวนผลิตไปจนถึงหลังการเก็บเกี่ยวด้วยสารสกัดจากสมุนไพร
ในประเทศไทยได้เริ่มมีการจัดทำระบบ GAP ของพืชแต่ละชนิดขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 โดยเน้นด้านการปฏิบัติตามคู่มือการผลิต ดังตัวอย่างที่ปรากฏในลักษณะของเอกสารสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่รู้จักกันในชื่อ GAP ของพืชหลายชนิด โดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีการแก้ไขให้เป็นเอกสารการจัดทำระบบการผลิตตามข้อกำหนด GAP ของประเทศ

มาตรฐาน GAP ในประเทศไทย
ข้อกำหนดของ ประเทศผู้ซื้อที่จัดได้ว่าเข้มแข็งที่สุดและนิยมใช้ในการอ้างอิงมากที่สุด คือ ข้อกำหนดของสมาพันธ์การค้าปลีกในตลาดยุโรปที่เรียกว่า “EUREP-GAP (Euro Retailer Produce Working Group – GAP)” การพิจารณาข้อกำหนดต่างๆ พิจารณาจากพื้นฐานด้านสังคม และข้อมูลทางการศึกษาวิจัยของประเทศนั้นๆ ทั้งด้านสุขอนามัยและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นบริษัทในประเทศไทยต้องการส่งออกสินค้าทางการเกษตรไปจำหน่ายในประเทศ ใดๆ ในสหภาพยุโรป จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศผู้ซื้อเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานของยุโรป (EUREP-GAP)
การนำหลักเกณฑ์ของ GAP มาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน
การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (Good Agriculture Practices : GAP) สำหรับประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจรับรองระบบการจัดการคุณภาพ : การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP)
โดยได้กำหนดข้อกำหนด กฎเกณฑ์และวิธีการตรวจประเมิน ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่สอดคล้องกับ GAP ตามหลักการสากล เพื่อใช้เป็นมาตรฐานการผลิตพืชในระดับฟาร์มของประเทศ รวมทั้งได้จัดทำคู่มือการเพาะปลูกพืชตามหลัก GAP จำนวนหลายชนิด เรียกรวมๆ ว่า พืช GAP
พืช GAP มีกี่ชนิด อะไรบ้าง
เพื่อใช้เป็นมาตรฐานการผลิตในระดับฟาร์ม จึงมีการจัดทำคู่มือการเพาะปลูกพืชตามหลัก GAP จำนวน 24 ชนิด ได้แก่
- กลุ่มผลไม้ 7 ชนิด : ทุเรียน, ลำไย, กล้วยไม้, สับปะรด, ส้มโอ, มะม่วง และส้มเขียวหวาน
- กลุ่มพืชและผัก 12 ชนิด : มะเขือเทศ, หน่อไม้ฝรั่ง, ผักคะน้า, หอมหัวใหญ่, กะหล่ำปลี, พริก, ถั่วฝักยาว, ถั่วลันเตา, ผักกาดขาวปลี, ข้าวโพดฝักอ่อน, หัวหอมปลี และหัวหอมแบ่ง
- กลุุ่มไม้ดอก 2 ชนิด : กล้วยไม้ตัดดอก และปทุมมา
- กลุ่มพืชอื่นๆ 3 ชนิด : กาแฟโรบัสต้า, มันสำปะหลัง และยางพารา

พืช GAP กับข้อกำหนดที่สำคัญ
- การรักษาระบบบันทึก การทวนสอบ และสายพันธุ์พืช
มีการจัดทำประวัติที่มาและสายพันธุ์ดั้งเดิม - การจัดการพื้นที่ และประวัติแปลง
พื้นที่ปลูก ไม่อยู่ในสภาพเเวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนวัตถุหรือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อผลผลิต - การจัดการดินและ วัสดุปลูก การจัดการปุ๋ย-ธาตุ อาหาร
วัตถุอันตรายทางการเกษตร จัดเก็บเป็นหมวดหมู่ในสถานที่เก็บที่มิดชิดและใช้ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร - ระบบการให้น้ำ การดูแลรักษาพืช
น้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตต้องมาจากเเหล่งที่ไม่มีสภาพเเวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนต่อผลผลิต - การเก็บเกี่ยวผลผลิต
การจัดการคุณภาพในกระบวนการเก็บเกี่ยว มีแผนควบคุมการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพโดยใช้หลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี
- การดูแลหลังการเก็บเกี่ยว
การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีอายุเหมาะสม ผลผลิตมีคุณภาพตามความต้องการของตลาดและข้อตกลงของประเทศคู่ค้า - การจัดการสิ่งแวดล้อม
การพักผลิตผล การขนย้ายในเเปลงปลูกและการเก็บรักษาผลผลิต มีการจัดการด้านสุขลักษณะเพื่อป้องกันการปนเปื้อนที่มีผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค - การจัดการสุขลักษณะ
สุขลักษณะส่วนบุคคล ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ ความเข้าใจในสุขลักษณะล่วนบุคคล เพื่อสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกสุขลักษณะ - การร้องเรียน และการตรวจสอบภายใน
การบันทึกข้อมูลและการตามสอบ มีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติงานการใช้สารเคมี ข้อมูลผู้รับซื้อและปริมาณผลผลิต เพื่อประโยชน์ต่อการตามสอบ
ข้อกำหนด 8 ประการ เพื่อการรับรองตามเงื่อนไข GAP

เกษตรกรที่ดี ควรทำตามเงื่อนไข GAP
1. การจัดการดินที่ดี มีการรักษา และปรับปรุงดินให้อุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ
โดยวิธีการเพิ่มอินทรีย์วัตถุลงในดิน เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก การปลูกพืชหมุนเวียน ปลูกพืชคลุมดินเพื่อลดการชะล้างหน้าดินเมื่อฝนตก มีการปรับความเป็นกรดด่างของดิน เลือกชนิดปุ๋ยเคมีตามปริมาณ ตามระยะที่พืชต้องการในตำแหน่งที่พืชจะใช้ประโยชน์ได้ง่าย และรวดเร็วระวังการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในปริมาณสูงเกินไป จนเกิดปัญหาการปนเปื้อนในรูปของไนเตรตและฟอสเฟต มีการใช้ปุ๋ยแบบผสมผสานกันระหว่างปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมีตรงกับระยะเวลา และอัตราที่เหมาะสมของพืชแต่ละชนิด
2. การจัดการเรื่องน้ำ
เลือกใช้ระบบการให้น้ำมีประสิทธิภาพสูง คุ้มค่ากับการลงทุน ให้น้ำตามปริมาณและเวลาที่เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด และหลีกเลี่ยงน้ำที่ก่อให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนกับผลผลิต
3. การผลิตพืช
คัดเลือกพันธุ์หรือสายพันธุ์พืชที่ต้านทานโรคและแมลงศัตรู รวมทั้งจัดระยะปลูกอย่างเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงการระบาดของศัตรูพืช จัดลำดับการปลูกพืชในแปลงปลูกให้มีความหลากหลายที่เกื้อกูลประโยชน์ต่อกัน เช่น ปลูกพืชตระกูลถั่ว เพื่อเพิ่มธาตุไนโตรเจนที่ได้จากไรโซเดียมในปมรากถั่ว มีการทำระบบเกษตรผสมผสานพืช สัตว์ และปลา ปฏิบัติตามกฎระเบียบของความปลอดภัยที่รัฐกำหนดไว้
4. การป้องกันกำจัดศัตรูพืช
ให้มีการตรวจสอบและพยากรณ์ช่วงการระบาดของโรคและแมลงอยู่อย่างสม่ำเสมอและ วิธีการ จัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสานมาใช้ ให้มีประสิทธิภาพปลอดภัย และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เมื่อมีการระบาดในระดับไม่รุนแรง ก็อาจจะกำจัดโดยวิธีเผาทำลาย เมื่อพบการระบาดในระดับหนึ่งอาจจะมีการควบคุมด้วยชีววิธี เช่น ใช้ตัวห้ำ ตัวเบียฬ ไส้เดือนฝอย เป็นต้น แต่เมื่อมีการระบาดถึงระดับที่ทำความเสียหายรุนแรงก็อาจจะต้องมีการใช้สิ่ง ทดแทนสารเคมีที่ปลอดภัยกว่า เช่น สารสกัดจากสะเดา เชื้อจุลินทรีย์ เชื้อไวรัสNPV เป็นต้นถ้าจะใช้สารเคมีควรจะดูที่มีการขึ้นทะเบียนแล้ว มีฉลากระบุวิธีการใช้และข้อระวังอย่างชัดเจนปฏิบัติตามฉลากอย่างเคร่งครัด มีการเก็บรักษาสารเคมีก่อน และหลังนำมาใช้เก็บในสถานที่ห่างไกลจากเด็กและสัตว์เลี้ยง
5. การเก็บเกี่ยวและการแปรรูปในระดับไร่นา
เก็บเกี่ยวผลผลิตในเวลาที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ให้มีผลตกค้างของสารเคมีในระดับที่เป็นอันตราย มีการล้างทำความสะอาดผลผลิต มีการเก็บรักษาผลผลิตในแหล่งที่สะอาดถูกสุขลักษณะและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมบรรจุผลผลิตในภาชนะที่สะอาดก่อนการขนส่งไปยังแหล่งจำหน่าย
6. การจัดการพลังงานและของเสียจากไร่นา
จัดหาและใช้พลังงานไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหรือถ่านที่ใช้เป็นแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสมและเพียงพอ มีการบำรุงรักษาเครื่องจักรกลการเกษตรตามกำหนดเวลา มีการเก็บปุ๋ยและสารเคมีการเกษตรในที่มิดชิดปลอดภัยจากเด็กและสัตว์เลี้ยง
7. สวัสดิภาพ สุขภาพและความปลอดภัยของเกษตรกรหรือผู้ปฏิบัติ
การผลิตสินค้าเกษตรต้องมีรายได้พอเพียงกับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตมีความ ปลอดภัยและมีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ รัฐต้องเป็นผู้ให้ความรู้ในการใช้เครื่องมือหรือเครื่องจักรอย่างถูกวิธี นายจ้างต้องจ่ายค่าตอบแทนเหมาะสมให้กับลูกจ้าง
8. ไม่ทำลายพันธุ์สัตว์ พันธุ์พืชป่าและสภาพภูมิประเทศ
ควรหลีกเลี่ยงการทำลายพันธุ์พืชสัตว์และสิ่งแวดล้อม มีการกำจัดวัชพืชอย่างเหมาะสม มีการใช้สารเคมีอย่างระมัดระวัง มีการจัดการน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำไม่ให้มีสารพิษปนเปื้อน อันจะเกิดอันตรายกับสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ และแนวทางที่สำคัญของการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสมที่เพิ่มขึ้นมาอีกประการหนึ่ง คือ จะต้องมีการ บันทึกข้อมูลการปฏิบัติการ ในขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ หากเกิดข้อผิดพลาดบกพร่อง จะสามารถจัดการแก้ไขหรือปรับปรุงได้ทันท่วงที

ที่มา : แนวทางการ ทำเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP ถึงเวลาที่เกษตรกรไทยต้องทำ โดย เจษฎา มณีรัตน์ วิถีเกษตร / chula.ac.th