เห็ดฟาง เป็นเห็ดที่เด็กก็เพาะได้ กรรมวิธีไม่มีอะไรยุ่งยาก แต่ถ้าทำไม่ถูกขั้นตอน หรือไม่รู้จักวงจรชีวิตของเห็ดฟาง ส่วนใหญ่ก็มักจะล้มเหลวไม่เป็นท่า
จากที่ผู้เขียนได้ทำการศึกษาวงจรชีวิตของเห็ดฟางนั้น จะมีชีวิตอยู่หลังจากเพาะจนถึงให้ผลผลิต ทั้งในฤดูร้อน และฤดูฝน ใช้เวลาประมาณ 8-12 วันเท่านั้น แต่ถ้าเป็นฤดูหนาววงจรชีวิตก็จะยาวขึ้นไปอีก อาจจะถึง 12-14 วัน แต่ถ้าสิ่งแวดล้อมไปกระตุ้นให้เกิดการงอกมากขึ้น เช่น อุณหภูมิสูงขึ้น ความชื้นเหมาะสม อาจใช้เวลาเพียงแค่ 7 วันเท่านั้น อาทิตย์เดียวเก็บได้ อาทิตย์เดียว ใช้แล้ว หาเงินได้ภายใน 1 อาทิตย์ ง่าย ๆ ด้วยเทคนิคการเพาะเห็ดฟางนี่แหละ แค่อาทิตย์เดียวก็รวยได้
หากต้องการดูเนื้อหาน่าสนใจเกี่ยวกับ การเพาะเห็ดฟางสู้แล้ง หรือ การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า กดดูได้เลยจากลิ้ง
เทคนิคการเพาะเห็ดฟาง สร้างรายได้ใน 1 อาทิตย์
เพราะฉะนั้น ในการเพาะเห็ดฟางจึงเป็นเรื่องที่คนทั่วไปจะเข้าใจกันว่าเป็นเห็ดที่ให้ผลผลิตเร็วมาก และก็จริงอย่างว่า จากการศึกษาพบว่า
เห็ดฟาง ให้ผลผลิตเร็วกว่าเห็ดทุกชนิด
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลักๆ ในการเพาะเห็ดฟางให้ได้ผลผลิตเร็วๆ แบบนี้ด้วย
แล้วปัจจัยที่มีผลต่อการงอกของเห็ดฟางมีอะไรบ้าง..
ADVERTISEMENT
เทคนิคในการเพาะเห็ดฟาง เพื่อสร้างรายได้ อย่างยั่งยืน
ปัจจัยสำคัญในการเพาะเห็ดฟางให้ได้ผลดีนั้น ก่อนจะลงมือเพาะเห็ดฟางด้วยวิธีแบบไหน ควรพิจารณาร่วมกันใน 3 ลักษณะ เพื่อให้การเพาะเห็ดเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายขึ้น และไม่มีปัญหาตามมาทีหลัง คือ..
1. สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมในบริเวณที่เพาะเห็ด มีความเหมาะสมแค่ไหน
สภาพอากาศที่เหมาะสมในการเพาะเห็ดฟาง คือ อากาศร้อน อุณหภูมิ 35-37 องศาเซลเซียส จะสามารถขึ้นได้ดีทั้งในฤดูฝนและในฤดูร้อน เพราะอากาศร้อนจะช่วยเร่งการเจริญเติบโตของดอกเห็ดได้ดีอยู่แล้ว ส่วนในช่วงอากาศหนาวนั้นไม่ค่อยจะดีสำหรับการเพาะเห็ดชนิดนี้เท่าไหร่นัก เพราะอากาศที่เย็นเกินไปจะไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของดอกเห็ด สำหรับทางภาคใต้นั้นสามารถจะเพาะเห็ดฟางได้ตลอดทั้งปี เพราะมีฝนตกตลอดปี และอากาศแบบร้อนชื้น ส่วนในภาคอื่นๆ ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน ตามสภาพอากาศทั่วไป
ข้อยกเว้นคือ ทางภาคที่มีอากาศหนาวมากๆ โดยจะเห็นได้ว่าการเพาะเห็ดฟางของประเทศไทยเรา สามารถเพาะได้ตลอดปี แต่หน้าหนาวผลผลิตจะลดน้อยลงเนื่องจากอุณหภูมิต่ำ จึงทำให้เห็ดฟางนั้นมีราคาค่อนข้างสูงในฤดูหนาว และหลังฤดูเกี่ยวข้าวอากาศร้อน ฟางซึ่งเป็นวัสดุหลักมีมาก จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เห็ดจะมีราคาต่ำลง ส่วนในฤดูฝนชาวนาส่วนใหญ่ทำนา การเพาะเห็ดน้อยลง ราคาเห็ดฟางก็เริ่มดีขึ้น แต่ราคาตลาดก็ไม่ได้ขี้เหร่ ขายได้กำไรเห็นๆ
2. ความชื้น สำคัญเป็นอย่างมากในการเพาะเห็ด
และเป็นตัวกำหนดการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ดที่สำคัญ ถ้าความชื้นมีน้อยเกินไป เส้นใยของเห็ดจะเดินช้า และรวมตัวเป็นดอกเห็ดไม่ได้ แต่ถ้าความชื้นมากเกินไป การระบายอากาศภายในกองเพาะเห็ดก็จะไม่ดี และจะทำให้เส้นใยขาดออกซิเจน ทำให้เส้นใยฝ่อหรือเน่าตายไปในที่สุด ที่สำคัญที่สุดคือ น้ำที่จะแช่หรือทำให้ฟางชุ่ม ควรเป็นน้ำสะอาด ไม่เน่าเสียหรือมีกลิ่น น้ำขังในบ่อนานๆ ไม่ควรนำมาใช้ น้ำที่มีรสเค็มก็เช่นกัน น้ำประปามีคลอรีน ก็ไม่ควรนำมาใช้ คลอรีนจะทำให้เชื้อเห็ดตายง่ายๆ หากจะใช้น้ำประปา ให้บ่มน้ำในถังสะอาดประมาณ 7 วันถึงสามารถนำมาใช้ได้
การเพาะเห็ดฟางที่ดีนั้น การฉีดพ่นน้ำให้กับฟาง เมื่อฟางที่อุ้มน้ำ และมีความชื้นโดยรอบ และและความชื้นจากพื้นแปลงเพาะ ก็เพียงพอที่จะช่วยในการงอกของเส้นใยเห็ดได้ ปกติขณะที่เพาะเห็ดไว้เป็นกองเรียบร้อยแล้ว จึงไม่ควรจะมีการให้น้ำอีก ควรจะรดน้ำเพียงครั้งเดียว คือในระหว่างการหมักฟางเพาะเพื่อทำรางหรือทำกองเพาะเท่านั้น ในกรณีที่ความชื้นมีน้อย หรืออากาศแห้งจนเกินไป การให้ความชื้นนี้โดยการโปรยน้ำจากฝักบัวไปรอบๆบริเวณข้างแปลงเพาะพอเปียกก็เพียงพอ มีทุนหน่อยก็ทำตัวฉีดพ่นหมอกเบาๆ บริเวณรอบๆ แปลงเพาะ ก็ใช้ได้แล้ว
3. แสงแดด ปัจจัยสำคัญในการงอกของเห็ดฟาง
จะต้องมี แสงแดด แต่เห็ดฟางไม่ชอบแสงแดดโดยตรง หากมีแสงแดดส่องถึงโดยตรงนานๆ เชื้อเห็ดจะฝ่อและตาย โดยเฉพาะการเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย ถ้าเชื้อเห็ดถูกแสงแดดมากเกินไป เส้นใยเห็ดอาจจะตายได้ง่าย กองเห็ดฟางสำหรับเพาะเห็ดนั้นหลังจากทำกองเพาะเรียบร้อยแล้ว จึงควรจะทำการคลุมกองด้วยผ้าพลาสติก และใช้ฟางแห้ง หรือหญ้าคาปิดคลุมทับอีกชั้นเพื่อพรางแสงแดดให้ดอกเห็ด ซึ่งดอกเห็ดฟางที่ไม่โดนแสงแดดจัดจะมีสีขาวนวลสวย ถ้าดอกเห็ดฟางโดนแดดแล้ว จะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีดำเร็วขึ้นกว่าปกติ สังเกตุได้ง่ายๆ จากดอกเห็ดที่เริ่มโตในแปลงเพาะ ว่าโดนแสงมากน้อยเพียงไร
อ่านถึงตรงนี้ก็ยังต้องเรียนรู้กันอีกซักนิด ก่อนลงมือทำการเพาะเห็ดอย่างจริงจัง หากไม่อ่านให้เข้าใจ ก็ต้องไปทดลองทำเองสังเกตุกันเอง เสียเวลาแน่นอน อ่านต่อซักนิดเกี่ยวกับสิ่งจำเป็นในการเพาะเห็ดฟาง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ก่อนทำการลงมือเพาะเห็ดกันจริงๆ ในภาคปฏิบัติ
สิ่งจำเป็นในการเพาะเห็ดฟาง เพื่อให้ได้ผลผลิตดี
คือ วัตถุดิบที่ใช้ในการเพาะเห็ด การใช้ “ฟางตากแห้งสนิทซึ่งเก็บไว้โดยไม่เปียกชื้นหรือขึ้นรามาก่อน” จะใช้ได้ดีมาก สามารถใช้ได้ทั้งฟางข้าวเหนียว ฟางข้าวจ้าว ฟางข้าวที่นวดเอาเมล็ดออกแล้ว และส่วนของตอซังเกี่ยวหรือถอนก็ใช้ได้ดี ถ้าเปรียบเทียบวัสดุที่ใช้ในการเพาะชนิดต่างๆ แล้ว “ตอซัง” จะดีกว่าปลายฟางข้าวนวดและวัสดุอื่นๆ มาก เนื่องจากตอซังมีอาหารมากกว่าและอุ้มน้ำได้ดีกว่าปลายฟาง
อาหารเห็ดฟาง ใช้อะไร ที่ทำให้ดอกเห็ดใหญ่และโต
ในการใส่ “อาหารเสริม” ก็เป็นส่วนช่วยให้เส้นใยของเห็ดฟางเจริญเป็นดอกเห็ดได้ดีขึ้น และทำให้ได้ดอกเห็ดมากกว่าการไม่ใส่อาหารเสริมประมาณเท่าตัว อาหารเสริมที่นิยมใช้อยู่เป็นประจำได้แก่ ละอองข้าว ปุ๋ยมูลสัตว์หรือปุ๋ยคอกแห้ง ไส้นุ่น ไส้ฝ้าย ผักตบชวาตากแห้งแล้วสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ จอกแห้ง และเศษพืชชิ้นเล็กๆ ที่นิ่มและอุ้มน้ำได้ดี วัสดุเหล่านี้สามารถใช้เป็นอาหารเสริมได้ดีเช่นกัน โดยไม่ต้องเปลืองหรือลงทุนมาก วิธีการก็คือการผสมกับฟางเข้าไปเลยในการเตรียมฟางเพาะเห็ดตั้งแต่แรกเริ่ม
การเลือกซื้อเชื้อเห็ดฟาง แบบไหนถึงจะดี และหาได้จากไหน
เชื้อเห็ดฟางที่จะใช้เพาะนั้น การเลือกซื้อเชื้อเห็ดฟางเพื่อให้ได้เชื้อเห็ดที่มีคุณภาพดีและเหมาะสมกับราคา มีวิธีตรวจสอบเชื้อ ดังนี้
ADVERTISEMENT
การตรวจสอบเชื้อเห็ดฟาง
- เมื่อจับดูที่ถุงเชื้อเห็ด ควรจะต้องมีลักษณะเป็นก้อนแน่นมีเส้นใยของเชื้อเห็ดเดินเต็มก้อนแล้ว
- ไม่มีเชื้อราชนิดอื่นๆ หรือเป็นพวกแมลง หนอน หรือตัวไรเจือปน และไม่ควรจะมีน้ำอยู่ก้นถุง เพราะจะแสดงให้เห็นว่าก้อนเชื้อนั้นชื้นเกินไป การงอกจะไม่ดี โอกาสที่ใยเห็ดจะเน่ามีสูง
- ไม่มีดอกเห็ดอยู่ในถุงเชื้อเห็ดนั้น เพราะนั่นหมายความว่าเชื้อเริ่มแก่เกินไป นำมาเพาะจะได้ผลผลิตน้อย
- เส้นใยไม่ฟูจัด หรือละเอียดเล็กเป็นฝอยจนผิดธรรมดา ลักษณะของเส้นใยควรเป็นสีขาวนวล เจริญคลุมทั่วทั้งก้อนเชื้อเห็ด
- ต้องมีกลิ่นหอมของเห็ดฟาง จึงจะเป็นก้อนเชื้อเห็ดฟางที่ดี
- เชื้อเห็ดฟางที่ซื้อต้องไม่ถูกแดด หรือมีการพักรอการขายไว้นานจนเกินไป
- อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาใดๆ ของผู้ขาย ควรสอบถามจากผู้ที่เคยทดลองเพาะมาก่อนจะดีกว่า นอกจากนี้ควรมีการตรวจสอบเชื้อเห็ดฟางจากหลายยี่ห้อ เชื้อเห็ดฟางยี่ห้อใดให้ผลผลิตสูงก็ควรเลือกใช้ยี่ห้อนั้นมาเพาะ
- ราคาของเชื้อเห็ดฟางไม่ควรจะแพงจนเกินไป ควรสืบราคาจากเชื้อเห็ดหลายๆ ยี่ห้อ เพื่อเปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจซื้อ
ก้อนหัวเชื้อเห็ดฟาง
ที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อซื้อเชื้อเห็ดฟางมาแล้ว ควรจะทำการเพาะภายใน 7 วัน ไม่ควรทิ้งระยะไว้นานจะทำให้เชื้อเริ่มแก่และอาจให้ผลผลิตต่ำ
.
.
.
เมื่ออ่านถึงตรงนี้ ก็จบภาคทฤษฎี แล้วผูกเชือกรองเท้าให้แน่น จับหมวกมาใส่ แล้วลุยกันเลย
ขั้นตอนการเพาะเห็ดฟางแบบเกษตรอินทรีย์ ฉบับผู้เริ่มต้น
จะเป็นการเพาะแบบตะกร้า เพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย หรือยกแปลง หรือเพาะในกระสอบ จะแบบไหน ใช้วิธีนี้ได้หมด รับรองผลงอกแน่นอน ใครทำแล้วไม่งอก แนะนำไปทำอย่างอื่นเลย คุณอาจไม่เหมาะกับการเพาะเห็ด แต่เมื่ออยากทำ ก็ต้องมีกาจดบันทึกรายงานการเพาะเห็ดฟาง ซึ่งควรจดบันทึกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มลงเชื้อเห็ด ระยะเวลาการงอก จนกระทั่งเก็บผลผลิต เริ่มวันที่เท่าไหร่จนถึงวันที่เท่าไหร่ สภาพอากาศเป็นอย่างไร ต้องมีอุปกรณ์การวัดอุณหภูมิติดตั้งไว้ในโรงเพาะ เพื่อความแม่นยำในการจัดการในครั้งต่อไป หากขี้เกียจทำ นำข้อมูลนี้ไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่ได้ทดลองทำไปแล้ว
เตรียมวัสดุเพาะเห็ดฟาง ไว้สำหรับทำแปลงเพาะเห็ด
วัสดุที่ใช้เพาะ นอกจากฟางข้าวแล้ว สามารถใช้ได้หลายอย่างตามที่มีในท้องถิ่น ไม่จำเป็นว่าเห็ดฟางจะต้องใช้ฟางอย่างเดียว เช่น ผักตบชวา ต้นกล้วยแห้ง ไส้นุ่น เปลือกถั่ว ขี้เลื่อย หรือกากมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นการนำวัสดุที่เหลือใช้ในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ในครอบครัว สร้างงาน ในช่วงว่างจากฤดูการทำนา และวัสดุที่เหลือจากการเพาะเห็ดก็สามารถนำกลับลงไปในแปลงนาเพื่อบำรุงดิน หรือทำเป็นปุ๋ยหมักใส่พืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น ก็ได้
วัสดุเพาะหลักอย่าง ฟางข้าว ก่อนทำการเพาะ ให้นำไปแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน
วัสดุเพาะเห็ดฟาง ของมันต้องมี และที่ดีที่สุด คือแบบไหน
“ตอซัง” เป็นวัสดุสำหรับเพาะเห็ดฟางที่ดีกว่าวัสดุอื่นๆ มาก เนื่องจากตอซังมีอาหารมากกว่าและอุ้มน้ำได้ดีกว่า
ที่สำคัญ สามารถนำก้อนเชื้อเห็ดถุงที่เก็บดอกหมดแล้วทั้งเห็ดขอนขาว เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม มาเป็นวัสดุเพาะเห็ดฟางได้อีกด้วย โดยเฉพาะกรรมวิธีการเพาะเห็ดฟางตะกร้า ใช้วัสดุเพาะจากก้อนเชื้อเห็ดถุงที่เก็บดอกเห็ดหมดแล้วมาใช้เพาะ นี่เรื่องจริง ส่วนวัสดุอื่นๆ นอกเหนือจากตอซัง ฟางข้าว ฯลฯ หรือที่กล่าวมาข้างต้นก็ยังมีวัสดุจำเป็นอื่นๆ ดังนี้
- อิฐสำหรับรองรางเพาะเห็ด หรือผ้าใบสำหรับรองตะกร้าหรือกระสอบสำหรับเพาะเห็ด
- ตะกร้าพลาสติกสูงประมาณ 1 ฟุต ตาห่างประมาณ 1 ตารางนิ้ว (หากต้องการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า)
- เชื้อเห็ดฟางที่สมบูรณ์พร้อมเพาะ
- อาหารเสริม (มูลสัตว์ผสมรำ อัตรา 1: 1) หรือปุ๋ยหมัก หรืออาหารเสริมอื่นๆ เช่น ผักตบชวาสับ ต้นกล้วยแห้งสับ ไส้นุ่น เปลือกถั่ว ขี้เลื่อย หรือกากมันสำปะหลัง
- แป้งข้าวสาลี แป้งข้าวสาร (ทำอาหารเสริมระยะแรก มีหรือไม่ก็ได้)
วิธีการเพาะเห็ดฟาง แบบเกษตรอินทรีย์ เริ่มต้นอย่างไร ดูตรงนี้
- นำผ้าพลาสติกหรือผ้าใบมาวางรองพื้น นำอิฐมาทับไว้ และทำเป็นฐานรอง ไม่ต้องถี่มาก ข้อดีคือ เวลาน้ำที่รดลงมาบนแปลงมีมากเกินไป รางเพาะชั้นล่างสุดจะได้ไม่สัมผัสกับน้ำโดยตรง
- เริ่มขั้นตอนการเพาะเห็ดฟาง จากการนำตอซัง หรือ ฟางข้าว ฯลฯ หรือที่กล่าวมาข้างต้น มาใส่ในรางเพาะ หากเพาะในตะกร้าก็ใส่ตะกร้า เพาะในกระสอบก็ใส่กระสอบ หรือวัสดุที่เตรียมไว้ ให้มีความสูงประมาณ 2-3 นิ้ว และใช้มือหรือไม้กดให้แน่น จากนั้นนำอาหารเสริมที่มาจากปุ๋ยหมัก หรือมูลสัตว์ผสมรำที่ผสมเข้ากันดีแล้ว เอามาโรยตรงกลางของรางเพาะ ในตะกร้าหรือในกระสอบ ก็โรยเป็นวงกลมด้านในตรงกลาง บริเวณที่โรย ก็ให้มีความกว้างประมาณ 1 ฝ่ามือ ใช้ประมาณ 1 ลิตรต่อชั้น รดน้ำให้เปียกชุ่ม
- ต่อมาให้นำเชื้อเห็ดฟางออกจากถุง นำไปคลุกกับแป้งข้าวสาลีหรือแป้งข้าวสารพอติดผิวนอก แป้งสาลีนี้จะเป็นอาหารเสริมระยะแรก ที่จะช่วยกระตุ้นให้เชื้อเห็ดเจริญเติบโตได้ดี หากไม่มี ก็ไม่ต้องผสม ให้นำเชื้อเห็ดไปวางได้เลย โดยวางไว้ตรงกลาง โรยทับด้วยอาหารเสริมจากปุ๋ยหมัก หรือมูลสัตว์ผสมรำที่ผสมเข้ากันดีแล้วอีกชั้นหนึ่ง
ทำซ้ำเป็นชั้นๆ จากข้อ 2-3 ทำลักษณะนี้ไปจนเต็มรางเพาะ กรณีเป็นรางเพาะเห็ดไม่ควรเกิน 3 ชั้นหากไม่มีรางกั้น แต่หากมีรางกั้นก็ทำจนเต็ม ส่วนการเพาะในตะกร้าพลาสติก หรือเพาะเห็ดฟางในกระสอบก็ทำจนเต็ม สังเกตุก้อนหัวเชื้อเห็ด หากมีความชุ่มน้ำ ก็ไม่ต้องรดน้ำซ้ำจนเปียกชุ่ม ให้พรมๆ พอเปียก แต่หากแห้งก็รดน้ำให้ชุ่ม
เทคนิคง่ายๆ หากก้อนหัวเชื้อเห็ดแห้งเกินไป ให้พรมน้ำหรือใช้ฟ๊อกกี้ฉีดพ่นก่อนทำการวางลงในวัสดุเพาะ เพราะหากวางแล้วรดน้ำทีหลัง เมื่อทำหลายชั้น น้ำจะไหลไปกองรวมกันด้านล่าง ถ้าไม่มีอิฐรองฐานรางเพาะชั้นล่าง จะทำให้น้ำท่วมหัวเชื้อเห็ดที่ชั้นล่างสุด และทำให้เน่าได้
จากนั้น ทำการควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมสำหรับเริ่มการเกิดดอกเห็ด โดยการปิดโรงเรือนให้มิดชิด หากไม่มีโรงเรือนให้ใช้ผ้าใบปิดรางเพาะให้มิดชิด หากเป็นการเพาะในตะกร้าหรือในกระสอบ ให้ใช้วัสดุปิดพรางแสงให้มิดชิด พยายามให้ระบบการเพาะอยู่ในอากาศร้อนชื้น เช่น ด้านล่างควรใช้อิฐทับผ้าพลาสติกไว้ เพื่อป้องกันพลาสติกเปิดออก ภายในโรงเรือนควรติดเทอร์โมมิเตอร์ สำหรับวัดอุณหภูมิ ในช่วงวันที่ 1 ถึง 4 วันแรก ต้องควบคุมอุณหภูมิในกระโจมหรือในโรงเรือนให้อยู่ในระดับ 37-40 องศาเซลเซียส
หากอุณหภูมิสูงเกินไป ให้เปิดช่องระบายอากาศทางด้านบน เพื่อระบายอากาศร้อนออก หากมีโรงเรือน ให้รดน้ำรอบๆ โรงเรือนเพื่อเพิ่มความชื้น ลดความร้อน หากเป็นกระโจมให้ใช้ฟ๊อกกี้ฉีดน้ำฉีดพ่นรอบๆ ทางด้านข้างรางเพาะ หรือตะกร้าเพาะ แล้วปิดไว้ดังเดิมให้มิดชิด ข้อนี้ทำเฉพาะเมื่อมีอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสเท่านั้น หากไม่ร้อนเกินไปไม่ควรทำ ทิ้งไว้อย่างนั้นจนครบ 4 วัน
เมื่อครบกำหนด 4 วัน ให้เปิดผ้าพลาสติกหรือประตูโรงเรือนอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศ เร่งให้เส้นใยเห็ดฟางสร้างใยเชื้อเห็ด ถ้าวัสดุแห้งเกินไปให้รดน้ำซ้ำได้ แต่อย่าให้ชุ่มเกินไป ในระหว่าง วันที่ 5-8 ต้องควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้อยู่ระหว่าง 28-32 องศาเซลเซียส (อุณหภูมิลดลงมาจาก 4 วันแรก) ซึ่งในช่วงนี้จะมีการรวมตัวของเส้นใยเป็นดอกเล็กๆ จำนวนมาก เมื่ออายุได้ 7-12 วันก็สามารถที่จะเก็บดอกเห็ดได้
หากอุณหภูมิในช่วง 4 วันหลังสูงถึง 35 องศาเซลเซียส ดอกเห็ดจะโตและบานเร็วขึ้น ความสมบูรณ์ของดอกเห็ดจะไม่ค่อยดี ดอกจะเล็กกว่าปกติ โดยอัตราการงอกที่สมบูรณ์ที่สุดของเห็ดฟางอยู่ที่ 9-12 วัน
ก็หวังว่าคนจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย สำหรับข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ การเพาะเห็ดฟาง สร้างรายได้สู้ภัยแล้ง แบบเกษตรอินทรีย์ เรื่องนี้ สำหรับผู้ที่สนใจในการเพาะเห็ดฟางในหลายๆ แบบ สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้เลยในแบบที่ต้องการ แต่ควรศึกษาถึงวิธีการเพาะในแบบที่ต้องการเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับผู้เริ่มต้นเพาะเห็ดฟาง
วัสดุที่ใช้สำหรับการเพาะเห็ดฟางตะกร้า หาได้ทั่วไป หรือสอบถามที่ ม. ธรรมศาสตร์ (ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตร) รวมทั้งคำแนะนำการเพาะด้วย ถ้าไม่เคยเพาะมาก่อน แนะนำให้ทำตามขั้นตอนในบทความเรื่องนี้ จะสำเร็จแน่นอน แต่ผู้เริ่มต้นควรฝึกภาคปฏิบัติ โดยเริ่มในจำนวนน้อยก่อน หรือศึกษาเพิ่มเติมที่ศูนย์เรียนรู้ที่ อ.บ้านนา จ.นครนายก (ศูนย์พัฒนาของในหลวงฯ)
ที่มา www.stou.ac.th/ ku.ac.th / phetphichit.com
เรียบเรียงใหม่โดย kasetorganic.com
ความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ที่น่าสนใจ ล่าสุดในตอนนี้
บทความน่ารู้
ข้าวโพดสวิส หรือ สวีท คือข้าวโพดหวานนั่นแหละ
หลายคนถามเข้ามาว่า “ข้าวโพดสวิส” คืออะไร เร
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมเทคนิคและวิธีการ
ปลูกมะพร้าวต้นเตี้ยอินทรีย์ วิธีที่ทำให้ผลดก
มะพร้าว เป็นพืชทนแล้งที่ขึ้นได้ทุกที่ในประเทศบ้านเรา รว
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมการขยายพันธุ์พืช
การปักกิ่งชำในขวดให้พืชงอกเร็ว รอดตายสูง ทำอย่างไร
เทคนิคขยายพันธุ์พืชด้วยการปักชำกิ่งพืชในขวด เป็นวิธีแบบ
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมบทความน่ารู้
เจาะลึกประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าว จากผู้เชี่ยวชาญ
น้ำมันมะพร้าว ที่เรารู้จักกันนั้น จะอ้างอิงข้อมูลเดิมที
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมบทความน่ารู้
มอลโทเดกซ์ทริน มันคือแป้ง
ก็แป้งจริง ๆ นั่นแหละ แต่เป็นแป้งที่รับประทานได้ เกิดจา
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมบทความน่ารู้
กล้วยด่างฟลอริด้า สวยยังไง ทำไมแพง
กล้วยด่างฟลอริด้า กล้วยด่างที่ ญาญ่า อุรัสยา เสปอร์บันด
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติม
เทคนิค วิธีการ
พื้นที่น้อย
การทำปุ๋ย
ขยายพันธุ์พืช