ขึ้นชื่อว่าผักอินทรีย์หลายคนเข้าใจว่าปลอดภัยหายห่วง แต่อะไรทำให้คุณมั่นใจอย่างนั้น
ผักอินทรีย์ ต่างจาก ผักปลอดสารพิษ หลายคนอยากปลูกผักอินทรีย์ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ทำแบบไหน วันนี้เราจะมาบอกถึงวิธี “การปลูกผักอินทรีย์สำหรับผู้เริ่มต้น” และเป็นผู้ที่พอมีพื้นที่ปลูกเพื่อสร้างรายได้แก้จน แม้ปลายทางจะไกล แต่รับประกันเลยว่าจะมีผักปลอดภัยไว้กินอย่างแน่นอน
เริ่มก่อนได้เปรียบ ปลูกผักอินทรีย์แบบไหน ถึงจะแก้จนได้
ถาม : ปลูกอะไรก่อนถึงจะดี และแก้จนได้
ตอบ : กินอะไรบ่อย ก็ปลูกอย่างนั้นไปก่อน
ก็เริ่มตั้งแต่อยากกินผักอะไรก่อนเป็นอันดับแรก ก็ให้เริ่มปลูกผักชนิดนั้นก่อน ผักสวนครัวรั้วกินได้ ที่รู้จักกันดี และรับประานประจำในครัวเรือน ปลูกแบบอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมีใดๆ เพื่อความปลอดภัยของครัวเรือน เมื่อได้ผลผลิต จะสามารถลดรายจ่ายลงได้ในเบื้องต้น
ถาม : แปลงปลูกผักอินทรีย์ ต้องเตรียมดินอย่างไร
ตอบ : ปุ๋ยหมักอินทรีย์ที่หมักเอง คือคำตอบสุดท้าย
ขั้นตอนต่อมาคือการเตรียมพื้นที่ ดินปลูก เมล็ดพันธุ์ผัก และกรรมวิธีการปลูก โดยทั่วไปผักสวนครัวบ้านเราสามารถปลูกได้ทั้งปีโดยสามารถปลูกแบบไม่ซ้ำกันได้เลยในทุกเดือน แถมผักบางชนิดอายุการเก็บเกี่ยวน้อยมาก เพียง 40 วันก็เก็บได้แล้ว จึงทำให้หลายคนสร้างรายได้จากการปลูกผักสวนครัวได้ไม่ยาก ที่สำคัญคือ ความขยัน และสำหรับดินปลูกที่ดีที่สุดคือ ปุ๋ยมักอินทรีย์ที่ใช้เศษอาหารทำการหมักแบบเร่งด่วน 7 วันก็สามารถนำมาใช้ปลูกผักได้ (ดูข้อมูลการปรับปรุงและบำรุุงดินได้จากข้อมูลด้านล่างนี้)
เริ่มต้นการปลูกผักอินทรีย์ เรื่องโรงเรือนสำคัญมาก เพราะสภาพแวดล้อมในปัจจุบันไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการทำเกษตรมาก จำเป็นต้องใช้โรงเรือนเพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมบางส่วนให้เหมาะสมสำหรับการทำเกษตร เช่น การควบคุมน้ำ ควบคุมแสงแดด ลม รวมไปถึงศัตรูของพื้นผักที่จะเข้ามาทำลายก่อนจะได้ผลผลิต ฯลฯ หมดยุคที่ต้องพึ่งฟ้าพึ่งฝน พึ่งพาธรรมชาติแบบ 100% กันแล้ว
การปลูกผักอินทรีย์อาจใช้เวลาและขั้นตอนในการเตรียมมากกว่าการปลูกผักแบบอื่น ๆ ต้องมีการดูแลเอาใจใส่มากพอจนกระทั่งอยู่ในระยะที่อยู่ตัว เมื่อความรู้+ความชำนาญ และประสบการณ์ จากการศึกษาลองผิดลองถูกอยู่หลายปีจะทำให้เกษตรกรสามารถปลูกผักอินทรีย์ได้ทุกชนิดที่เหมาะสมกับสภาพในพื้นที่นั้น ๆ อย่างแน่นอน
ตัวอย่างการปลูกผักอินทรีย์ ให้หายจน สร้างรายได้ยั่งยืน
หลังจากศึกษาเรื่อง การปลูกผักอินทรีย์ จนกระทั่งแน่ใจแล้วว่าทำได้ จึงเริ่มปลูกโรงเรือน ในโรงเรือนให้ทำนั่งร้านคล้ายโต๊ะ ยกพื้นสูงพอดีเอว เพื่อสะดวกในการดูแลและเก็บผักได้ง่าย ใช้กระเบื้องแผ่นลอนคู่มาวางเป็นพื้นนั่งร้าน เพื่อช่วยระบายน้ำและถ่ายเทอากาศด้านใต้ ดินปลูกผักไม่ร้อน รากพืชไม่เน่าง่าย จากนั้นใช้มุ้งตาข่ายไนลอน หรือตาข่ายเหล็กสำหรับทำรั้ว มาทำกระบะวางทับไปบนกระเบื้องอีกที
ใส่ดินปลูก หนา 20 นิ้ว ตามด้วยปุ๋ยหมักมูลสัตว์ ฉีดพ่นด้วยน้ำหมัก วิธีนี้จะทำให้ได้จุลินทรีย์มาช่วยย่อยอินทรียวัตถุให้กลายเป็นปุ๋ยสำหรับพืช การตรวจสอบว่าดินพร้อมปลูกผักหรือยัง เคล็ดลับคือ ให้กำดินแล้วดูร่องมือว่ามีน้ำซึมออกมามั้ย ถ้าดินจับตัวเป็นก้อนไม่ร่วนซุยต้องเพิ่มปุ๋ยหมักลงไปอีก บีบแล้วมีน้ำซึมออกมาถึงจะใช้ได้
ช่วงผักกำลังเจริญเติบโตใส่ปุ๋ยหมักสูตรที่มีไนโตรเจนสูง และ 7 วันก่อนเก็บผักขาย ฉีดพ่นใส่น้ำหมักทำจากผลไม้สุก อาทิ ฟักทอง สับปะรด กล้วย และแตงโม จะช่วยให้ผักกรอบ ไม่มีรสขม หลังเก็บผักหมด พรวนดิน ใส่ปุ๋ยและน้ำหมัก ทดสอบโครงสร้างดินวิธีเดิม แล้วปลูกผักรุ่น 2 ได้เลย ไม่ต้องพักหน้าดิน ต่างจากเมื่อก่อนที่ต้องพักหน้าดิน 15 วัน โรงเรือน 1 หลัง หักต้นทุนได้กำไรปีละ 120,000 บาท ดีกว่าทำนาปลูกข้าวปีละหน ได้เงินไม่แน่นอน
ปากคำของ ปิยะทัศน์ ทัศนิยม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ บ้านหนองมัง ต.โนนกลาง อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี ผู้หันมาปลูกผักอินทรีย์สร้างอาชีพ สร้างรายได้ หายจน
แบบอย่างการปลูกผักอินทรีย์เพื่อสร้างรายได้
ต้นแบบ การปลูกผักอินทรีย์ สร้างรายได้ หายจน ปลูกทั้งปีไม่ซ้ำกัน เก็บขายสนุก สร้างรายได้ทั้งปี กับบุคคลต้นแบบ คุณพงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ เกษตรกรที่น้อมรับคำสอนการพึ่งพาตนเองและดำเนินการต่อยอดแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์จนประสบความสำเร็จ เค้าทำยังไง??
ไปดูงานที่ แก้วพะเนาว์ ออร์แกนิค ฟาร์ม เลขที่ 2 หมู่ที่ 2 ตำบลนาภู อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม ที่ของคุณปลิว หรือ พงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ เกษตรกรในโครงการ Young Smart Farmer ซึ่งปัจจุบัน คุณปลิวอายุ 26 ปี แนะแนวทางการทำการเกษตรให้ประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยพื้นฐานความรู้เรื่องการวิเคราะห์ดินซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะเกษตรกรต้องรู้เข้าใจดินก่อน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับพืชผลที่ลงทุนไป นอกจากนี้ก็ต้องเรียนรู้เข้าใจเรื่องตลาดทั้งในประเทศและส่งออก หากจำเป็นต้องค้าขายกับต่างประเทศในอนาคต จึงยิ่งต้องยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรมากขึ้น
บนพื้นไร่ ใช้ปลูกผักอินทรีย์ทั่วไปที่กินได้ ปลูกไผ่นอกฤดู เพาะเห็ดในโรงเรือน ซึ่งทุกกิจกรรมจะเน้นความปลอดภัยไปจนถึงขั้นมาตรฐานอินทรีย์ รวมทั้งเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และสร้างเครือข่ายให้สมาชิกในหมู่บ้านได้เดินตามรอยพ่อหลวง เพื่อชีวิตที่มีความสุขและยั่งยืน คุณปลิวได้แบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมและได้จุดประกายให้เข้าใจถึงกลยุทธ์การเก็บเกี่ยว แบบระบุช่วงฤดูกาลที่เหมาะสมในการปลูกพืชผัก และสร้างปฏิทินเพาะปลูกตลอดปี 365 วัน โดยปลูกพืชคละชนิดกัน ไล่ไปตามอายุเก็บเกี่ยว โดยอาศัยปฏิทินเพาะปลูกที่คิดขึ้นเอง ทำให้โรคและแมลงเกิดการงงจนมากินผักไม่ถูกนั่นเอง
เคล็ดลับการปลูกผักอินทรีย์ให้รอดตาย
ต้องแบ่งพื้นที่ปลูกออกเป็นแปลงๆ ยกร่องปลูกพืชสลับชนิดกัน แต่ละแปลงปลูกพืชสลับแถว สลับแปลงกัน เช่น ขึ้นฉ่าย ผักสลัด หอมแบ่ง ผักโขมแดง ผักบุ้งจีน กะเพรา โหระพา ผักพื้นบ้าน โดยทยอยปลูกพืชแต่ละชนิดห่างกันแปลงละ 1 วัน จนครบ 60 วัน
และยังปลูกพืช 7 ชนิด 7 แถว ห่างกัน 1 สัปดาห์ เริ่มจากสัปดาห์แรก ปลูกขึ้นฉ่าย ที่มีอายุเก็บเกี่ยว 60 วัน สัปดาห์ที่ 2 ปลูกผักสลัด อายุเก็บเกี่ยว 50 วัน สัปดาห์ที่ 3 ปลูกหอมแบ่ง อายุเก็บเกี่ยว 45 วัน สัปดาห์ที่ 4 ปลูกผักโขมแดง อายุเก็บเกี่ยว 35 วัน สัปดาห์ที่ 5 ปลูกผักบุ้งจีน อายุเก็บเกี่ยว 30 วัน สัปดาห์ที่ 6 ปลูกผักสวนครัวที่มีอายุเก็บเกี่ยว 6 เดือน เช่น กะเพรา โหระพา สัปดาห์ที่ 7 ปลูกผักพื้นบ้าน เช่น สะระแหน่ พริก ฯลฯ
เมื่อครบระยะเวลาเก็บเกี่ยวพืชผักเสร็จ คุณปลิวจะพลิกดินกลบตอทิ้งไว้ 3 วัน เพื่อเป็นปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดินก่อนเริ่มปลูกผักรอบใหม่ โดยไม่ปลูกพืชชนิดเดียวกันซ้ำที่เดิม เพื่อป้องกันโรคแมลงรบกวน ผลผลิตที่ได้คุณปลิวป้อนเข้าสู่ตลาดใน 3 ช่องทาง คือ ขายในแบรนด์ ออร์แกนิค เฟรช ในห้างเดอะมอลล์ และแมกซ์แวลลูทั่วประเทศ แบรนด์แก้วพะเนาว์ ออร์แกนิค ฟาร์ม ขายในจังหวัดมหาสารคาม และตลาดหน้าฟาร์ม ส่วนแบรนด์ The Kreenana ขายส่งถึงบ้านในจังหวัดนครราชสีมา วางแผนการผลิตและการตลาดในลักษณะนี้ สร้างรายได้เข้ากระเป๋าสูงถึง 8 แสนบาท/ไร่ ทีเดียว
เห็นแบบนี้แล้ว ใครอยากเป็นเกษตรกรอินทรีย์ พออยู่พอกิน ลองเริ่มต้น หันมาปลูกผักอินทรีย์กินก่อน เหลือค่อยขาย ทำได้แบบพอเพียง เริ่มเล็กๆ ชำนาญแล้วค่อยขยาย อาจต้องใช้เวลา แต่หากอดทน ก็ไม่อดตาย ไม่ยากจนอย่างแน่นอน
1. /www.thairath.co.th/news/local/northeast/1320527 (“ปลูกผักอินทรีย์อย่างไร ให้หายจน” โดย ปิยะทัศน์ ทัศนิยม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ จ.อุบลราชธานี)
2. www.sentangsedtee.com/farming-trendy/article_72572 (“แบบอย่างการปลูกผักอินทรีย์ สร้างรายได้” ของปลิว พงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์)
เรียบเรียง : kasetorganic.com
ความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ที่น่าสนใจ ล่าสุดในตอนนี้
เกษตรในพื้นที่น้อย
จัดสวนสมุนไพรไว้หน้าบ้าน ดีหลายอย่าง
สวนสมุนไพร ใครว่าไม่เหมาะเอาไว้หน้าบ้าน มาดูไอเดียดี ๆ
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมปรับปรุงดิน การทำปุ๋ย
อาการของต้นพืชแบบไหนที่แปลว่าขาดสารอาหาร
ถ้าคุณอยากปลูกพืชผัก ผลไม้ หรือพืชพันธุ์ต่างๆ ให้งอกงาม
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมเทคนิคและวิธีการ
การตอนมะละกอ เทคนิค วิธีการ
ว่าด้วยเรื่อง การตอนมะละกอ เพราะสมาชิกหลายคน เข้ามาบ่นถ
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมเกษตรในพื้นที่น้อย
ขั้นตอนการปลูกพืชไร้ดินแบบง่าย ทำได้หลายวิธี
ปลูกพืชไร้ดิน แบบง่ายที่สุด ต้องทำอย่างไร ลองมาอ่านบทคว
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมสายพันธุ์ข้าวไทย
ข้าวไร่สามเดือน พันธุ์ทนแล้ง ให้ผลผลิตเร็ว
ข้าวไร่สามเดือน สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเร็วในเวลาแค่ 3 เด
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมการขยายพันธุ์พืช
ขยายพันธุ์ไผ่ด้วยวิธีตอนกิ่ง แนะนำการทำ
ขยายพันธุ์ไผ่ ด้วยการตอนกิ่ง ได้นะ วิธีการทำไม่ยากเลย แ
อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติม
เทคนิค วิธีการ
พื้นที่น้อย
การทำปุ๋ย
ขยายพันธุ์พืช