ผักส่วนใหญ่มักแพงตามราคาและความต้องการของตลาด และความนิยมบริโภคผักแต่ละชนิดนั้นก็ล้วนแต่เห็นถึงความอร่อย แต่ไม่ได้คำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการของผักชนิดนั้นๆ อย่างทั่วถึงนัก รู้หรือไม่ว่า ผักพื้นบ้านของไทยเรา ที่หาง่าย อยู่ตามรั้วรอบๆ บ้าน ก็มีคุณค่าสารอาหารและสรรพคุณไม่แพ้ผักแพงๆ จากต่างประเทศเลยทีเดียว เหตุเพราะน้ำท่วมทำให้ผักหลายๆ ชนิดขึ้นราคา อีกทั้งช่วงเทศกาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกินเจ ตรุษจีน เทศกาลปีใหม่ ล้วนแล้วแต่มีความต้องการผักไว้รับประทานอย่างมาก ทำให้ราคาผักบางชนิดขยับไปสูงมากเกินความพอดี อีกทั้งปัญหาในการขนส่งและขาดซึ่งวัตถุดิบในการปลูก จึงทำให้ผักยิ่งแพงมากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
ผักพื้นบ้านของไทย มีคุณค่ามากมาย อีกทั้งได้ประโยชน์สารอาหารครบถ้วนไม่ต้องง้อผักจากต่างประเทศ หากการรับประทานผักแต่ละมือของคุณเน้นคุณค่าทางอาหารมากกว่าราคาและความอร่อย ทางเลือกของผู้ชอบทานผักที่ไม่ง้อตลาดผัก
นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รมช.สาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีพืชผักสมุนไพรพื้นบ้านหลายชนิด ที่สามารถใช้เป็นยาและเป็นอาหารได้ เช่น สะเดา ผักแพว กะเพรา ซึ่งถือเป็นประโยชน์อาหารไทยยกกำลัง 2 ซึ่งมีลักษณะพิเศษต่างจากอาหารชาติอื่น จึงมีนโยบายให้สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ทำการศึกษาวิจัยหาคุณค่าของผักพื้นบ้านที่คนไทยทั้ง 4 ภาค นิยมกินกันอยู่ทั่วไป ทั้งดอก ใบ ยอดอ่อน ฝัก ผล หัว และราก เพื่อเผยแพร่สรรพคุณและส่งเสริมให้มีการนำมาเป็นอาหารบำรุงสุขภาพในปี 2555 เพิ่มภูมิต้านทานโรค และจะให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเผยแพร่ส่งเสริมประชาชนใช้บริโภคและให้โรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข นำมาปรุงเป็นอาหารของผู้ป่วยเป็นตัวอย่างประชาชน เมื่อออกจากโรงพยาบาลสามารถนำไปทำกินเองที่บ้านได้
ด้าน นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีผักพื้นบ้านมากกว่า 300 ชนิด ส่วนใหญ่จะขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ริมห้วย หนอง คลอง บึง และป่าเขา ในการศึกษาผักพื้นบ้านในปี 2554 นี้ กรมอนามัยได้เก็บตัวอย่างผักพื้นบ้าน รวม 45 ชนิด จาก 4 ภาค ประกอบด้วย ภาคกลาง 12 ชนิด ภาคเหนือ 6 ชนิด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 ชนิด และภาคใต้ 22 ชนิด โดยศึกษาปริมาณสารอาหารที่มีความสำคัญต่อร่างกาย 9 ชนิด ได้แก่ 1.พลังงาน 2.โปรตีน 3.ไขมัน 4.คาร์โบไฮเดรต 5.เบต้าแคโรทีน 6.วิตามินซี 7.ใยอาหาร 8.ธาตุเหล็ก และ 9.แคลเซียม
ผลการศึกษาเมื่อเปรียบเทียบน้ำหนักทุก 100 กรัมเท่ากัน พบว่าผักพื้นบ้านของไทยทุกชนิดให้พลังงาน โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตน้อยมาก จึงกล่าวได้ว่าผักเหล่านี้กินแล้วไม่ทำให้อ้วน
ผักพื้นบ้านไทย ที่มีแคลเซียมสูงที่สุด 10 อันดับ
- หมาน้อย มี 423 มิลลิกรัม
- ผักแพว มี 390 มิลลิกรัม
- ยอดสะเดา มี 384 มิลลิกรัม
- กะเพราขาว มี 221 มิลลิกรัม
- ใบขี้เหล็ก มี 156 มิลลิกรัม
- ใบเหลียง มี 151 มิลลิกรัม
- ยอดมะยม มี 147 มิลลิกรัม
- ผักแส้ว มี 142 มิลลิกรัม
- ดอกผักฮ้วน มี 113 มิลลิกรัม
- ผักแมะ มี 112 มิลลิกรัม
แคลเซียมมีบทบาทหลักคือ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกระดูก และป้องกันโรคกระดูกพรุนช่วยในการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ หัวใจ และหลอดเลือด นอกจากนี้ ยังช่วยในการแข็งตัวของเลือดและควบคุมการหลั่งของฮอร์โมนบางชนิดอีกด้วย
ผักพื้นบ้านไทย ที่มีธาตุเหล็กสูงสุด 5 อันดับแรก
- ใบกะเพราแดง มี 15 มิลลิกรัม
- ผักเม็ก มี 12 มิลลิกรัม
- ใบขี้เหล็ก มี 6 มิลลิกรัม
- ใบสะเดา มี 5 มิลลิกรัม
- ผักแพว มี 3 มิลลิกรัม
ส่วนธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง เพื่อนำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย และมีบทบาทในด้านพัฒนาการและการเรียนรู้สมรรถภาพในการทำงานสร้างภูมิต้านทานโรค และเกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์ธาตุเหล็ก จะถูกดูดซึมได้ดีต้องรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีควบคู่ด้วย
ผักพื้นบ้านไทย ที่มีใยอาหารสูง 10 อันดับ
- ยอดมันปู มี 16.7 กรัม
- ยอดหมุย มี 14.2 กรัม
- ยอดสะเดา มี 12.2 กรัม
- เนียงรอก มี 11.2 กรัม
- ดอกขี้เหล็ก 9.8 กรัม
- ผักแพว 9.7 กรัม
- ยอดมะยม 9.4 กรัม
- ใบเหลียง 8.8 กรัม
- หมากหมก 7.7 กรัม
- ผักเม่า มี 7.1 กรัม
ซึ่งใยอาหารในผักพื้นบ้านไทยนี้ ทำให้ร่างกายขับถ่ายอุจจาระได้เร็วขึ้น ท้องไม่ผูก ช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และทำให้การดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดช้าลง ส่งผลให้ลดระดับการใช้อินซูลิน นอกจากนี้ ใยอาหารบางชนิดยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
ผักพื้นบ้านไทย ที่มีเบต้าแคโรทีนสูง 10 อันดับ
- ยอดลำปะสี มี 15,157 ไมโครกรัม
- ผักแมะ มี 9,102 ไมโครกรัม
- ยอดกะทกรก มี 8,498 ไมโครกรัม
- ใบกะเพราแดง มี 7,875 ไมโครกรัม
- ยี่หร่า มี 7,408 ไมโครกรัม
- หมาน้อย มี 6,577 ไมโครกรัม
- ผักเจียงดา มี 5,905 ไมโครกรัม
- ยอดมันปู มี 5,646 ไมโครกรัม
- ยอดหมุย มี 5,390 ไมโครกรัม
- ผักหวาน มี 4,823 ไมโครกรัม
ผักพื้นบ้านไทย ที่มีวิตามินซีสูง 10 อันดับ
- ดอกขี้เหล็ก มี 484 มิลลิกรัม
- ดอกผักฮ้วน มี 472 มิลลิกรัม
- ยอดผักฮ้วน มี 351 มิลลิกรัม
- ฝักมะรุม มี 262 มิลลิกรัม
- ยอดสะเดา มี 194 มิลลิกรัม
- ผักเจียงดา มี 153 มิลลิกรัม
- ดอกสะเดา มี 123 มิลลิกรัม
- ผักแพว มี 115 มิลลิกรัม
- ผักหวาน มี 107 มิลลิกรัม
- ยอดกะทกรก มี 86 มิลลิกรัม
ผักพื้นบ้านไทยที่มีทั้งเบต้าแคโรทีนและวิตามินซี เป็นสารอาหารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ลดการอักเสบ เสริมสร้างภูมิต้านทานโรคในร่างกาย ทำให้ร่างกายแก่ชราช้าลงด้วย แล้วแบบนี้ จะยังไปกินผักที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศหรือผักที่เราไม่ได้ปลูกเอง แถมมีราคาแพงอีก คงไม่สมกันเท่าไหร่เหมือนกันการซื้อซุปไก่สกัดมารับประทาน ทั้งๆ ที่ในบ้านก็มีเลี้ยงเป็ดไก่มีไข่ไว้รับประทานทุกวันอยู่แล้ว
อ้างอิงจาก ไทยรัฐออนไลน์