การเกษตรทางเลือกในปัจจุบัน สามารถปรับเปลี่ยนระบบการทำเกษตรในแบบปกติ มาเป็นระบบ เกษตรอินทรีย์ ได้ โดยเริ่มต้นศึกษาความรู้จากมาตรฐานการทำเกษตรแบบอินทรีย์ที่ถูกกำหนดขึ้น เพื่อการปฏิบัติ โดยศึกษาความรู้จากธรรมชาติ
เมื่อเริ่มปฏิบัติตามนี้แล้วก็นับได้ว่า ได้ก้าวเข้าสู่การทำเกษตรแบบอินทรีย์แล้ว ซึ่งเรียกได้ว่า เกษตรกรผู้นั้นสามารถจะเป็นเกษตรกรผู้ทำเกษตรด้วยวิถีอินทรีย์ได้แล้ว แต่ในระยะปรับเปลี่ยน เมื่อปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง ตาม มาตรฐาน เกษตรอินทรีย์ ไม่นานก็จะเป็น “เกษตรอินทรีย์” ได้อย่างเต็มรูปแบบ
ทั้งนี้ ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับประเภทการทำเกษตร ที่จะผลิต ซึ่งได้ถูกกำหนดไว้ในมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แล้ว ข้อสำคัญนั้น อยู่ที่การทำความเข้าใจในการทำเกษตรแบบอินทรีย์ให้ท่องแท้ มีความตั้งใจจริง มีความขยันหมั่นเพียรไม่ท้อถอยต่อปัญหา หรืออุปสรรคใดๆ มีความสุขในการปฏิบัติก็จะบรรลุวัตถุประสงค์ และประสบความสำเร็จดังที่ตั้งใจไว้ เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้จริง
เมื่อเป็นเกษตรกรผู้ทำเกษตรแบบอินทรีย์แล้ว จะสามารถขอเอกสารรับรองมาตรฐานจากภาครัฐ หรือเอกชน จึงจะนับว่าเป็น เกษตรอินทรีย์ ที่สมบูรณ์ เป็นสมบัติล้ำค่าของแผ่นดิน
นิยาม เกษตรอินทรีย์
และจาก นิยามเกษตรอินทรีย์ ที่แตกต่างกันไปตามข้อกำหนดของหน่วยงานรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของแต่ละประเทศ ซึ่งมีความหมายที่แตกต่างจากผักไร้สารพิษ ผักปลอดภัยจากสารพิษ และผักอนามัยนั้น ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับ หลักการ การทำ เกษตรอินทรีย์นี้ ไว้คือ
ระบบการผลิตที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมรักษาสมดุลของธรรมชาติและความหลากหลายของทางชีวภาพโดยมีระบบการจัดการนิเวศวิทยาที่คล้ายคลึงกับธรรมชาติและหลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและฮอร์โมนต่าง ๆ ตลอดจนไม่ใช้พืชหรือสัตว์ที่เกิดจากการตัดต่อทางพันธุกรรมที่อาจเกิดมลพิษในสภาพแวดล้อม
เน้นการใช้อินทรีย์วัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และ ปุ๋ยชีวภาพในการปรับปรุงบำรุงให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ต้นพืชมีความแข็งแรงสามารถต้านทานโรคและแมลงด้วยตนเอง รวมถึงการนำเอาภูมิปัญญาชาวบ้าน มาใช้ประโยชน์ด้วย ผลผลิตที่ได้จะปลอดภัยจากสารพิษตกค้างทำให้ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคและไม่ทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมอีกด้วย (กรมวิชาการเกษตร)
ผักไร้สารจากสารพิษ คือ ผักที่มีระบบการผลิตที่ไม่ใช้สารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นสารเคมีเพื่อป้องกันเพื่อปราบศัตรูพืชหรือปุ๋ยเคมีทุกชนิด แต่จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทั้งหมด และผลผลิตที่เก็บเกี่ยวแล้วต้องไม่มีสารพิษใดๆทั้งสิ้น ผักปลอดภัย จากสารพิษ คือผักที่มีระบบการผลิตที่มีการใช้สารเคมีในการป้องกันและปราบศัตรูพืช รวมทั้งปุ๋ยเคมีเพื่อการเจริญเติบโตผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ยังมีสารพิษตกค้างไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ตามประกาศกระทรวงสาธารณะสุข ฉบับที่ 163 พ.ศ. 2538
ผักอนามัย คือผักที่มีระบบการผลิตที่มีการใช้สารเคมีในการป้องกันและปราบศัตรูพืช รวมทั้งปุ๋ยเคมีเพื่อการเจริญเติบโตผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ยังมีสารตกค้างไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และมีความสะอาดผ่านกรรมวิธีการปฏิบัติก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว ตลอดจนการขนส่ง และการบรรจุหีบห่อ ได้คุณสมบัติมาตรฐาน
ทำเกษตรอินทรีย์ ต้องหันมาปลูกพืชอินทรีย์
เกษตรกรที่สนใจปลูกพืชแบบอินทรีย์มี หลักการ ในการจะเป็น เกษตรอินทรีย์ และมีการปฏิบัติในการจะเป็น เกษตรอินทรีย์ อย่างเต็มตัวคือ
การเลือกพื้นที่ สำหรับทำเกษตรอินทรีย์
- ควรเลือกพื้นที่เหมาะสม โดยอยู่ห่างโรงงาน หางแปลงปลูกที่ใช้สารเคมี มีแหล่งน้ำสะอาด ไม่มีสารพิษเจือปน
- ศึกษาประวัติพื้นที่ เช่น เคยปลูกพืชอะไร การใช้ปุ๋ยและสารเคมี ย้อนหลังอย่างน้อย 3 ปี
- เลือกปลูกพืชให้เหมาะกับดิน โดยให้พิจารณาว่าดินมีทั้งดินร่วน ดินเหนียว หน้าตื้น หน้าดินลึก ดินเป็นกรด ดินเป็นด่าง ดินเค็ม เป็นต้น จึงควรพิจารณาเลือกปลูกพืชที่ขึ้นอยู่เดิม
- สังเกตจากพืชที่ขึ้นอยู่เดิม เก็บตัวอย่างดิน น้ำ ไปทำการวิเคราะห์
การวางแผนจัดการใน การทำเกษตรอินทรีย์
- วางแผนป้องกันสารพิษจากภายนอก ทั้งทางน้ำและทางอากาศ การป้องกันทางน้ำโดนขุดคูรอบแปลง การป้องกันทางอากาศโดยปลูกพืชกันชน ทั้งไม้ทรงสูง ทั้งไม้ทรงสูง ทรงสูงปานกลางต้นเตี้ย บนคันกั้นน้ำรอบแปลง
- วางแผนป้องกันภายในจัดระบบการระบายน้ำ การเก็บรักษาเครื่องมือ อุปกรณ์ และการเข้าออกไร่นา
- วางแผนระบบการปลูกพืช เลือกฤดูปลูกที่เหมาะสมใช้พันธุ์พืชที่ต้านทานโรค-แมลง พืชบำรุงดิน พืชไล่แมลง
การเลือกสายพันธุ์ ในการปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์
- คำนึงถึงสภาพดิน สภาพภูมิอากาศ ความต้านทานต่อ โรค-แมลง และวัชพืช ความหลากหลายของชนิดพืชในแปลง
- ไม่ใช้พืชจีเอ็มโอ (พืชที่มาจาการตัดต่อสารพันธุกรรม)
- ควรเป็นเมล็ดพันธุ์พืชที่มาจาการปลูกแบบอินทรีย์
การปรับปรุงบำรุงดินในแบบ เกษตรอินทรีย์
- เลือกพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินสูง (ห้ามตัดไม้ทำลายป่า)
- ถ้าดินเป็นกรดจัดใส่หินปูนบดลดความเป็นกรด
- ปลูกพืชตระกูลถั่วและไถกลบ ได้แก่ โสน ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า ถั่วมะแฮะ เป็นต้น (โสรนควรปลูกในนา ถั่วต่าง ๆ ควรปลูกในไร่)
- ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เศษซากพืช เพื่อช่วยปรับโครงสร้างดิน และให้ธาตุอาหารพืช
- ดินขาดฟอสฟอรัสให้ใช้ปุ๋ยหินฟอสเฟต
- ดินขาดโพแทสเซียม ให้ใช้ปุ๋ยมูลค้างคาว เกลือโพแทสเซียมธรรมชาติ และขี้เถ้าถ่าน
ขอบคุณข้อมูล การเป็นเกษตรกรแบบอินทรีย์ อ้างอิงจาก ศูนย์พัฒนาการเกษตรอินทรีย์ในส่วนภูมิภาค ซึ่งมีหลายจังหวัด
เรียบเรียง : www.kasetorganic.com