กรมวิชาการเกษตรจับมือมูลนิธิชัยพัฒนา ทดสอบปลูก ปอคิวบา ในพื้นที่ภาคใต้มุ่งสร้างพืชทางเลือกให้เกษตรกรรายย่อย เตรียมหนุนส่งออกไปยังอินโดนีเซียป้อนอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่า ปอคิวบา(Kenaf)เป็นพืชเส้นใยหนึ่งชนิดที่มีศักยภาพสูงและมีโอกาสทางการตลาด โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศอินโดนีเซีย ที่มีความต้องการใช้ปอคิวบาในอุตสาหกรรมรถยนต์ ขณะที่มาเลเซียต้องการใช้ใบปอคิวบาเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ปริมาณมาก ซึ่งถือเป็นช่องทางที่จะช่วยสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น กรมวิชาการเกษตรจึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้นำปอคิวบาเข้าไปปลูกในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่เกษตรกร
ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา เร่งศึกษาความเหมาะสมทางวิชาการเกี่ยวกับพันธุ์ปอคิวบาที่เหมาะกับแหล่งปลูกในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช และพัทลุง อีกทั้งยังศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเขตกรรมเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปอคิวบาในพื้นที่ดังกล่าวด้วยขณะเดียวกันมูลนิธิชัยพัฒนายังจะร่วมกับบริษัท TOYOTA BOSHOKU ASIA ทดสอบเทคโนโลยีการแช่ฟอกใหม่ ที่ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำเสียและกลิ่นเหมือนเมื่อก่อน
นายไพโรจน์ สุวรรณจินดา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัด สงขลา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปอคิวบาเป็นพืชที่ปลูกง่าย โตเร็ว เกษตรกรสามารถปลูกได้ทั้งก่อนและหลังนา มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ 3-5 เดือนก็สามารถเก็บเกี่ยวได้พื้นที่ 1 ไร่ จะได้ผลผลิตต้นสดประมาณ 6-7 ตัน(เป็นผลผลิตเปลือกสด ประมาณ 2 ตัน/ไร่)ปัจจุบันราคารับซื้อต้นสดอยู่ที่กิโลกรัมละ 0.85 บาท ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้5,000-6,000 บาท/ไร่/ปี ส่วนใบปอคิวบายังสามารถนำไปเลี้ยงสัตว์ได้ เนื่องจากมีโปรตีนสูงประมาณ 20 % นอกจากนั้นปอคิวบายังสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ค่อนข้างดีซึ่งจะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้
ทางบริษัท TOYOTA BOSHOKU ASIA มีความสนใจที่จะรับซื้อต้นปอคิวบาสดแล้วส่งออกไปแช่ฟอกที่อินโดนีเซีย เพื่อใช้เส้นใยเป็นส่วนประกอบร่วมกับพลาสติกสังเคราะห์ในการบุผนังด้านในของประตูรถยนต์ โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น อีโค่คาร์(Eco Car) รวมถึงรถยนต์หรูที่มีราคาแพง ซึ่งย้ายฐานการผลิตไปอยู่ในอินโดนีเซีย มีความต้องการเส้นใยปอคิวบาเป็นส่วนประกอบรถยนต์ปริมาณมาก
การปลูกปอ โดยทั่วไป
ปอเป็นพืชที่ตอบสนองต่อช่วงแสงมากซึ่งกระตุ้นให้ปอออกดอกในช่วงเวลาของวันสั้น ปอกระเจาเริ่มออกดอกราวเดือนสิงหาคมปอคิวบาออกดอกประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคม สำหรับปอแก้วช่วงแสงในเวลากลางวันมีผลให้ออกดอกประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม การออกดอกของปอทำให้การเจริญเติบโตทางลำต้นสิ้นสุดการสร้างผลิตผลของเส้นใยก็สิ้นสุดลงด้วย การปลูกปอจึงจำเป็นต้องให้ปอเจริญเติบโตทางลำต้นยาวนานที่สุดเพื่อจะให้ได้ผลิตผลเส้นใยสูงสุดตามปกติเกษตรกรจะเริ่มปลูกปอเมื่อฝนเริ่มตกในระยะแรกประมาณเดือนเมษายนหรืออย่างช้าเดือนพฤษภาคม การปลูกปอช้าไปกว่านี้จะทำให้ปอมีโอกาสเจริญเติบโตทางลำต้นน้อยลงเป็นผลให้ปลูกปอได้เพียงปีละ 1 ครั้ง
วิธีปลูกปอ
การปลูกปอให้ได้ผลิตผลสูงควรปลูกให้มีจำนวนต้นปอต่อไร่อยู่ระหว่าง๕๓,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ต้นต่อไร่ถ้าปลูกให้มีจำนวนมากกว่านี้ผลิตผลก็ไม่เพิ่มขึ้นแต่ขนาดของลำต้นจะเล็กลงเนื่องจากการแข่งขันกันเอง ทำให้เสียเวลาในการเก็บเกี่ยวและแช่ฟอกทั้งอาจจะมีการระบาดของโรคและแมลงได้ง่ายแต่ในทางตรงกันข้ามถ้าปลูกปอให้มีจำนวนน้อยกว่าที่กำหนดปอจะแตกกิ่งและล้มง่ายมีปัญหาเรื่องวัชพืชมากและผลิตผลต่ำ ตามปรกติการปลูกปอนิยมปลูกอยู่ ๒ วิธี คือ
- การปลูกเป็นแถว โดยมีการปลูกที่ใช้ระยะปลูกระหว่างแถว ๓๐ เซนติเมตร ระหว่างต้น ๑๐ เซนติเมตร ปอ ๑ ต้นต่อหลุม แต่การปลูกโดยวิธีนี้ทำให้ปลูกได้ช้า เสียค่าใช้จ่ายมากอาจปลูกโดยโรยเมล็ดปอเป็นแถว เพิ่มระยะระหว่างแถวเป็น ๕๐ เซนติเมตร สำหรับปอแก้วใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตรา ๓ กิโลกรัมต่อไร่ และปอกระเจาใช้ในอัตราประมาณ ๐.๕ กิโลกรัมต่อไร่ ข้อดีของการปลูกเป็นแถวคือทำให้ดูแลรักษาได้ง่าย นอกจากนี้ยังทำให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดี ลดโอกาสการระบาดของโรคและแมลงลงได้
- การปลูกแบบหว่าน เป็นวิธีการที่กสิกรปฏิบัติกันมาก เพราะสามารถปลูกได้เร็ว ใช้แรงงานน้อย วิธีการนี้จะเหมาะสมในสภาพที่มีวัชพืชรบกวนน้อย แต่ถ้าเกิดโรคขึ้นในแปลงปลูก โรคจะแพร่ระบาดได้เร็วกว่าการปลูกเป็นแถว สำหรับอัตราเมล็ดพันธุ์ที่แนะนำให้กสิกรหว่านคือ ปอแก้วใช้ในอัตรา ๓ กิโลกรัมต่อไร่ ปอกระเจาใช้ในอัตรา ๐.๕-๑.๐ กิโลกรัมต่อไร่
การดูแลรักษา
ตามปกติปอเป็นพืชที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีต้องการการดูแลรักษาไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับพืชไร่ชนิดอื่น ๆ สำหรับการดูแลรักษาโดยทั่วไป ได้แก่ การถอนแยกเพื่อให้ปอคงประชากรในแปลงปลูกประมาณ ๕๓,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ ต้นต่อไร่ การถอนแยกโดยทั่วๆ ไป จะทำเมื่ออายุไม่เกิน ๒๐ วัน ทำพร้อมกับการกำจัดวัชพืชและใส่ปุ๋ย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำควรใช้ปุ๋ยสูตร ๑๕-๑๕-๑๕ ในอัตรา ๕๐ กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่ในขณะที่ดินยังมีความชื้นอยู่แมลงที่ระบาดเป็นประจำและเป็นศัตรูสำคัญของปอแก้วและปอคิวบา ได้แก่ เพลี้ยจักจั่น แมลงชนิดนี้จะพบทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบาดรุนแรงเมื่อฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ปกติระบาดสูงในช่วงเดือนมิถุนายนกันยายน แมลงทำลายปอโดยการดูดน้ำเลี้ยงใต้ใบ ทำให้ใบปอเหลือง ซีดและม้วนลง เป็นผลให้ปอชะงักการเจริญเติบโต ถ้าระบาดในช่วงปอมีอายุน้อยต้นปออาจตายได้
ปอแก้วทนต่อการทำลายของเพลี้ยจักจั่นได้ดีกว่าปอคิวบาการระบาดของแมลงชนิดนี้จะหายไปเมื่อมีฝนตก สำหรับปอกระเจา หนอนคืบเป็นอันตรายร้ายแรงที่สุด ทำลายโดยกัดกินใบให้เป็น รพรุน ปอจะชะงักการเจริญเติบโต แต่ถ้าระบาดในช่วงปอออกดอกก็จะไม่มีผลต่อผลิตผลปอ โรคโคนเน่า (Collar rot) เป็นอันตรายและทำความเสียหายให้แก่ปอแก้วมากที่สุด พบได้ในแหล่งปลูกทุก ๆ ที่ โรคนี้เกิดจากเชื้อราไฟทอฟทอรา ไมโคเทียมี พรรณ พาราสิติคา (Phytophthora micotiame Var. Parasitica) ที่อาศัยอยู่ในดิน เชื้อรานี้สามารถเข้าทำลายปอได้ทุกช่วงอายุ แต่โดยทั่วไปจะพบในช่วงที่ปอใกล้ออกดอกและช่วงที่มีฝนตกชุก โรคนี้ทำให้ปอเหี่ยวและตายได้ ปอคิวบาต้านทานต่อโรคนี้ได้ดีกว่าปอแก้ว จึงสามารถปลูกในสภาพชื้นแฉะได้
ปอคิวบา อ่อนแอต่อโรครากปม (Rootknot) ซึ่งเกิดจากไส้เดือนฝอยที่พบว่าระบาดมากในดินร่วนปนทรายของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ปลูกปอคิวบาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงมีจำกัดโรคเน่าคอดิน (Damping-off) เกิดจากเชื้อรามาโครฟอมินา คอร์โคไร (ฟาริโอลินา) (Macrophomina Corchori (phareolina)ซึ่งสามารถอาศัยอยู่ในดินตามซากพืชหรือติดมากับเมล็ดเชื้อรานี้ระบาดมากในช่วงฝนตกและอากาศอบอ้าว ป้องกันได้โดยใช้เมล็ดพันธุ์จากต้นที่ไม่เป็นโรคและปลูกปอแต่เนิ่นๆ
ปอคิวบา มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาแถบแองโกรา ซึ่งภูมิประเทศมีลักษณะร้อนชื้นอยู่ระหว่างเส้นละติจูด 40 – 48 องศาเหนือแล้วต่อมาจึงกระจัดกระจายออกไปแถบรัสเซียและแมนจูเรีย จนถึงเส้นละติจูด 30 องศาใต้
การนำพันธุ์ปอคิวบา เข้ามาปลูกในประเทศไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปอแก้วนั้น ค้นคว้าหลักฐานไม่พบ เท่าที่ทราบครั้งแรกเรียกกันว่า ปอแก้วจีนสันนิษฐานว่า คงมีผู้นำมาจากประเทศจีนหรือไต้หวันเป็นครั้งแรก แล้วต่อมาเปลี่ยนเป็นปอแก้วไทยและเป็นปอแก้วในปัจจุบัน ส่วนการนำพันธุ์ปอแก้วมาทดลองปลูกเริ่มมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 โดยหลวงอิงคศรีกสิการ (นายอินทรีย์ จันทรสถิตย์) นำมาปลูกทดสอบพันธุ์ที่โรงเรียนเกษตรกรรมโนนวัด (เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีทดลองพืชไร่โนนสูง อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันได้ยุบสถานีไปแล้ว) ซึ่งขณะนั้นสังกัดอยู่ในกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการต่อมาใน พ.ศ. 2493 ประเทศไทยได้เริ่มปลูกปอแก้วกันเพิ่มขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยมี เนื้อที่ปลูกประมาณ 31,000 ไร่ ได้ผลิตผลประมาณ 4,700 ตัน
ในปี พ.ศ. 2475 นายเริ่ม บูรณฤกษ์ รองอธิบดีกรมกสิกรรม ได้นำเมล็ดพันธุ์ปอคิวบาจำนวน 108 สายพันธุ์จากสหรัฐอเมริกา เข้ามาทดลองปลูกในประเทศไทย มอบหมายให้กองการค้นคว้าและทดลอง (ปัจจุบันเป็นสถาบันวิจัยพืชไร่) กรมกสิกรรม ทำหน้าที่ค้นคว้าทดลองเพื่อหาพันธุ์ดีใช้ในการส่งเสริม
ปอคิวบา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ไฮบิสคุสคานาบินุส ลินเนียส (Hibiscus Cannabinus Linnaeus) มีชื่อพื้นเมืองเรียกต่างกันไปตามท้องถิ่นที่ปลูก เช่น เคนัฟ (kenal) เดคคานเฮมพ์ (deccanhemp) บิมลิพาตัม (bimlipatam) และเมสตา (mesta)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของปอแก้วและปอคิวบา
ปอแก้วและปอคิวบามีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่แตกต่างกันตรงที่รูปร่างหรือขนาดเท่านั้นส่วนอื่น ๆ มีลักษณะใกล้เคียงกันมากดังนี้
- ระบบราก มีรากแก้วหยั่งลงไปในดินลึกประมาณ 40-50 เซนติเมตร
- ลำต้น สูงเรียวตั้งตรง 3-4 เมตร ไม่แตกกิ่ง มีสีเขียว สีม่วงแดง มีสีเขียวปนแดง มีทั้งผิวเรียบหรือมีหนาม
- ใบ เกิดสลับกันบนลำต้น สำหรับปอแก้วเป็นใบชนิดใบประกอบ (palmately compound) ใบหนึ่ง ๆ มีลักษณะแยกเป็นแฉกคล้ายนิ้วมือ ส่วนปอคิวบาเป็นใบชนิดใบเดี่ยว และใบประกอบ อาจจะพบทั้งสองชนิดบนต้นเดียวกัน ขอบใบของปอแก้วและปอคิวบามีหยักคล้ายฟันเลื่อย
- ดอก เป็นดอกเดี่ยว มีกลีบดอก 5 อัน สีเหลืองที่ฐานดอกมีสีม่วงและออกดอกในช่วงวันสั้น เป็นพืชผสมตัวเอง
- ฝัก มีลักษณะกลม ปอคิวบาจะมีขนมาก มีเมล็ด 20-50 เมล็ดต่อฝัก
- คุณภาพเส้นใย ปอคิวบาจะให้คุณภาพเส้นใยดีกว่าปอแก้ว ปอทั้งสองชนิดนี้ ในต้นหนึ่ง ๆ จะให้ปริมาณเส้นใย ประมาณร้อยละ 4-6
- สภาพพื้นที่ ปอ คิวบามีความทนต่อความแห้งแล้งได้น้อยกว่าปอแก้ว แต่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพน้ำขัง และทนต่อการระบาดของโรคและแมลงได้น้อยกว่าปอแก้ว
- อายุการเก็บเกี่ยว เมื่อปอออกดอกประมาณร้อยละ 50 ของลำต้น (150-160 วัน)